18 มิถุนายน 2563

ยาอื่นที่ใช้ลดกรดยูริก

หลังจากที่เราได้รู้จักความสัมพันธ์ของกรดยูริกในเลือดกับโรคเกาต์และการใช้ยาลดกรดยูริกไปแล้ว ปัญหาสำคัญของยา allopurinol ที่ถึงแม้ระมัดระวังในการใช้งานเต็มที่แล้วแต่ก็อาจจะยังเกิดปัญหาได้คือ การแพ้ยา และระดับกรดยูริกไม่ได้ตามเป้าหมายอย่างที่ต้องการ เราจะมีวิธีอย่างไร แนวทางนี้ได้แนะนำเอาไว้เช่นกัน
ยาลำดับที่สองที่คิดถึงคือ ยาลดกรดยูริกชื่อ febuxostat ยาตัวนี้ใช้เหมือน allopurinol แต่เนื่องจากตัวยาออกมาไม่นานนัก ข้อมูลการศึกษาและใช้ยาน้อยกว่า allopurinol ที่เรารู้จักกันดี และราคายายังสูง ไม่มีในทุกสถานพยาบาล ยานี้จึงใช้เป็นทางเลือกต่อจาก allopurinol
สามารถใช้เป็นทางเลือกในกรณีแพ้ยา allopurinol หรือใช้ยาแล้วยูริกไม่ลด ถามว่าสามารถใช้เป็นตัวแรกได้ไหม ก็ไม่ได้ห้ามนะครับ
แต่สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงในการใช้ยา febuxostat คือ เรื่องความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดที่พบว่า เพิ่มโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว แต่คำแนะนำก็ไม่ได้ห้ามใช้นะครับ เพียงแต่ให้ใช้อย่างระวังและตกลงข้อดีข้อเสียให้คนไข้ฟังให้เรียบร้อยและติดตามผลสม่ำเสมอ เพราะการศึกษาทั้งการศึกษาทดลองและการศึกษาเฝ้าติดตามที่นำมาเป็นพื้นฐานคำแนะนำนั้น ผลการศึกษาไม่ไปในทางเดียวกัน มีทั้งเพิ่มโรคและไม่เพิ่มโรคหัวใจ
ยากลุ่มต่อมาคือ ยาเพิ่มการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ เช่น probenacid, benzbromarone ส่วนยาในกลุ่ม uricase ยังไม่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เช่น rasburicase, pegloticase
เช่นกัน การใช้ยาลดกรดยูริกกลุ่มนี้จะใช้เมื่อมีข้อห้ามการใช้ allopurinol หรือใช้แล้วไม่ได้ผล ซึ่งมีข้อห้ามใช้สำคัญคือ ไตเสื่อมระยะสามขึ้นไปและผู้ที่เป็นนิ่วกรดยูริก (เพราะมันจะยิ่งขับกรดออกมาเป็นนิ่วมากขึ้น) แต่ก่อนอาจจะต้องตรวจการขับกรดยูริกในปัสสาวะก่อนใช้ แต่แนวทางปัจจุบันให้ตรวจเฉพาะในคนที่เสี่ยงเกิดนิ่วกรดยูริกเท่านั้น เพื่อพิจารณาการให้ยาตัวนี้
การใช้ยา febuxostat และ ยาขับกรดยูริกทางปัสสาวะ ควรรับคำแนะนำและรักษาจากแพทย์นะครับ ส่วนการใช้ยา allopurinol อาจให้บุคลากรทางสาธารณสุขปรับใช้ยาตามแนวทางที่กำหนดไว้ เพื่อลด "clinical inertia" คือ หมอนี่แหละที่รักษาช้าและไม่ถึงเกณฑ์เสียที
และหากโรคไม่กำเริบต่อเนื่องกัน ระดับกรดยูริกในเลือดควบคุมได้ดี จึง "พิจารณา" หยุดยาลดกรดยูริกได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น