11 มิถุนายน 2563

การรักษาความดันโลหิตสูงในผู้สูงวัย

สำหรับผู้สูงวัย อย่าคิดว่าไม่ต้องรักษาความดันโลหิตสูงนะครับ ยังสำคัญและจำเป็นเสมอ
สามสี่ปีที่ผ่านมา มีการถกเถียงกันมากมายถึงการรักษาความดันโลหิตสูงในผู้สูงวัยด้วยเหตุหวาดเกรงอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นหากเราลดความดันโลหิตจนต่ำเกินไป
แต่ไม่ได้หมายความว่าจะปล่อยปละละเลยผู้สูงวัย เพราะหากเทียบกันแล้วอันตรายจากการปล่อยให้ความดันโลหิตสูงโดยไม่ควบคุมหรือย่อหย่อนมากไป มีอันตรายมากกว่าความดันโลหิตต่ำ ไม่ว่าอัมพาต หัวใจวาย ไตเสื่อม หรือในงานวิจัย meta-analysis ลงในวารสาร JAMA เมื่อ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่าการรักษาโรคความดันโดยใช้ยานั้น สัมพันธ์กับโอกาสการเกิดโรคสมองเสื่อมที่ลดลง อย่างมีนัยสำคัญ
ตัวเลขเป้าหมายค่าความดันโลหิตจากแนวทางการรักษาของไทยเมื่อปี 2562 คือ 130-139/80-89
ตัวเลขของ International society of Hypertension ทึ่ประกาศแนวทางปี 2020 เมื่อเดือนที่แล้วคือ ไม่เกิน 140/90 (มันก็ตัวเลขเดียวกัน)
โดยมีเงื่อนไขว่า หากสามารถทนต่อการรักษาได้ ถ้าทนไม่ได้อาจขยับเป้ามาสักเล็กน้อย หลาย ๆ แนวทางยอมรับที่ไม่เกิน 150/90
นั่นคือต้องใส่ใจ ดูแล ปรับยาให้ดี ไม่ให้ใช้ยามากเกิน หรือใช้ยาเดิม ๆ ซ้ำโดยไม่ปรับ การศึกษาชื่อ OPTIMISE เขานำผู้สูงวัยมากกว่า 80 ที่รักษาจนระดับความดันไม่เกิน 150/90 มาลองลดยาดูว่าในระยะเวลา 12 สัปดาห์ จะยังคุมความดันได้ดีไหม ผลออกมาว่า สองกลุ่มนั้นระดับความดันไม่ต่างกันมากนัก ผมคิดว่า *ส่วนตัวนะ* การศึกษานี้บอกเราว่า ถ้าเราปรับยาดี ๆ ผู้สูงวัยก็ยังควบคุมความดันได้ดีโดยไม่ต้องเสี่ยงใช้ยามากมายอย่างที่คิด
คนสูงวัยก็มีหัวใจ ต้องใส่ใจ ต้องเข้าใจ เพราะคนสูงวัยไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ที่มีตัวเลขอายุมาก แต่มีสรีรวิทยาและสภาพจิตใจที่ต่างจากวัยหนุ่มสาวและผู้ใหญ่
ยกเว้นชายชราหน้าหนุ่มบางคน ถึงสูงวัย แต่รับรองสดใหม่... ตลอดทั้งคืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น