13 มิถุนายน 2563

อาการ "aura"

กลางดึกคืนหนึ่ง...
น้องเมย ได้ยินเสียงหวีดหวิวของสายลมที่โหยหวน ตามมาด้วยเสียงสะอื้นไห้
น้องเมย สอดส่ายสายตามองไปรอบตัว เห็นแสงแว่บ กระพริบแปลบปลาบ ราวกับสายฟ้าวิ่งผ่านไป
น้องเมย รู้สึกเสียววูบ ราวกับลมพัด ขนลุกซู่
น้องเมย พยายามจะร้องขอความช่วยเหลือ แต่รู้สึกลิ้นแข็ง ร่างกายขยับไม่ได้ดังใจ
แล้วน้องเมยก็รู้สึกปวดหัวอย่างแรง ราวกับฟ้าฟาด อาการรับรู้ทั้งหมดก็หายไปพร้อมกับร้องออกมาสุดเสียง
"ลุงหมอขาาาาา ช่วยเมยด้วยยย อ๊าาาาา"
ทำไมไม่เรียกพี่เธียรช่วย หึหึ เรื่องนี้ต้องลุงหมอจึงจะช่วยได้ เพราะที่ว่าไปมันคือ อาการ "aura" ออร่า ของโรคปวดหัวไมเกรนนั่นเอง
โรคปวดหัวไมเกรนนั้น พบว่า 25%-30% ของผู้ป่วยเท่านั้นที่จะมีอาการออร่านำมาก่อนปวดหัว อาการออร่าคือการรับรู้ที่ผิดปกติบิดเบี้ยวไป เช่นเห็นแสงวูบวาบเป็นเส้นซิกแซก อันนี้ถือว่าคลาสสิก รู้หรือไม่ว่า ลูอิส แคร์โรว์ ผู้แต่งนิยายเรื่อง อลิซในแดนมหัศจรรย์ ก็ปวดหัวไมเกรนแบบมีออร่าและนำแสงออร่ามาแต่งนิยายด้วย
ออร่าจะเป็นชั่วคราวก่อนเริ่มปวดหัว มีได้ทั้งอาการทางสายตาเห็นภาพแสงสีผิดปกติ บางทีหลับตาก็ยังเห็น อาการทางการได้ยิน เช่นหูได้ยินเสียงแปลกที่ผิดไป อาการทางการรับสัมผัสเช่น รู้สึกวูบวาบแปลบตามตัว หรืออาการทางระบบเคลื่อนที่ พูดติดขัด หรืออาจขยับไม่ได้คล้ายอัมพาต การรักษาปวดหัวไมเกรนแบบมีออร่าก็ไม่ได้ต่างจากไมเกรนทั่วไป ยกเว้นว่าหากออร่าไม่หายไป หรือคงอยู่ตลอด อาจต้องพิจารณาถึงรอยโรคถาวรในสมองด้วย
เชื่อว่าออร่าเกิดจากความผิดปกติชั่วคราวของกระแสประสาทอันเกิดจากการอักเสบของหลอดเลือดตามกลไกที่เชื่อกันของไมเกรน ก่อนหน้านี้เชิ่อว่าอาจมีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดหลอดเลือดสมองตีบ (แค่พบความสัมพันธ์ครับ ไม่ใช่เป็นเหตุเป็นผล) ล่าสุดมีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของอาการออร่ากับโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง (ด้วยเชื่อว่าเกิดจากการอักเสบของหลอดเลือด)
วารสาร JAMA ลงตีพิมพ์เมื่อ 10 มิถุนายน 2563 เรื่องโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในสุภาพสตรีที่มีอาชีพทางสาธารณสุข 27,858 คนซึ่วมีอาการไมเกรน ที่ติดตามไป 22 ปี (เป็นส่วนหนึ่งของการติดตามเก็บข้อมูล Woman Health Study อยู่แล้ว) ผลออกมาว่า กลุ่มที่มีออร่า มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ 3.36 ต่อ 1000 ราย ส่วนที่ไม่มีออร่าเกิด 2.11 ต่อ 1000 ราย สองกลุ่มนี้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ถึงแม้แยกคิดปัจจัยเสี่ยงหลอดเลือดต่าง ๆ ก็ยังมีนัยสำคัญ
แม้การศึกษานี้จะเป็นการเฝ้าติดตามผล มีปัจจัยแปรปรวนมากมาย รวมทั้งยังไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้ในวงกว้าง แต่ก็เริ่มเห็นความสำคัญของอาการออร่าที่ชัดขึ้น นอกเหนือจากช่วยวินิจฉัยโรค ช่วยเตือนว่าอาจมีรอยโรคถาวรในสมอง และอาจบ่งชี้ถึงปัจจัยเสี่ยงหลอดเลือดที่มากกว่าในกลุ่มที่มีออร่า
กลับมาที่น้องเมย เมื่อลุงหมอเข้ามาถึงที่เกิดเหตุ สอบถามอาการและมองซ้ายขวาเห็นว่าไม่มีใคร จึงให้การรักษาที่เป็นท่าไม้ตาย
.... โอมมม จะเป่าคาถามหาระรวย ดลหัวใจคนสวยให้มาหลงเสน่ห์ ทั้งสาวไซส์ใหญ่เล็ก ทั้งชายหนุ่มและเกย์ เน้นนักร้องคาเฟ่ ให้รักหลงนานนาน...
ตามอ่านวารสารฉบับเต็มเรื่อง ออร่ากับโรคหลอดเลือดได้ที่นี่
Kurth T, Rist PM, Ridker PM, Kotler G, Bubes V, Buring JE. Association of Migraine With Aura and Other Risk Factors With Incident Cardiovascular Disease in Women. JAMA. 2020;323(22):2281–2289. doi:10.1001/jama.2020.7172

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น