14 พฤษภาคม 2563

หลักการแปลผลการตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัส SARS-CoV-2

ผลงานของสมาชิกเพจของเราครับ ส่งมาเผยแพร่ในเพจ เนื้อหาเป็นเชิงวิชาการ สรุปได้ครบถ้วนครับ
“หลักการแปลผลการตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัส SARS-CoV-2”
COVID-19 เป็นโรคที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่มีการแพร่ระบาดและทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชากรหลายล้านคนทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่เคยพบมาโรคนี้มาก่อนทำให้ในช่วงแรกจึงยังไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้มากพอโดยเฉพาะอย่างยิ่งการวินิจฉัยแยกโรค ทำให้ประเทศต่าง ๆ วินิจฉัยแยกโรคจาก “อาการแสดงของผู้ป่วยและความเสี่ยงของการติดเชื้อ” เป็นหลัก
ซึ่งพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงคำนิยามของผู้ป่วยไปเรื่อย ๆ ตามหลักฐานใหม่ที่มีการรายงานเพิ่มมากขึ้น ต่อมาเมื่อมีการค้นพบสาเหตุของโรคที่ชัดเจนจึงมีการพัฒนาวิธีวินิจฉัยโรคที่แม่นยำและถูกต้องมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 วิธี ได้แก่
1) การเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส ด้วยเทคนิค polymerase chain reaction (PCR)
2) การตรวจ antibodies
ทั้ง 2 วิธี มีหลักการเลือกเพื่อตรวจวินิจฉัยและหลักการแปลผลที่แตกต่างกัน
การทำ PCR จะเลือกใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยเพิ่งมีอาการแสดงของโรคชัดเจน ในการตรวจจะทำการเก็บตัวอย่างจากการทำ nasopharyngeal swab และวัด viral RNA โดยใช้ค่าผลต่างของ cycle threshold, ΔCt
การทำ PCR สามารถตรวจการติดเชื้อได้ตั้งแต่วันแรกของการมีอาการแสดงและจะมีค่า ΔCt สูงสุด ภายใน 1 สัปดาห์แรกหลังจากมีอาการแสดง โดยมีหลักการแปลผล คือ หากมีค่า ΔCt น้อย จะแสดงว่ามี viral RNA สูง โดยหากพบค่าน้อยกว่า 40 จะแสดงว่ามีผล PCR เป็นบวก อย่างไรก็ตาม ค่านี้จะค่อย ๆ ลดลงในสัปดาห์ที่ 3 และจะเป็นลบในที่สุด
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมาก ΔCt จะมีค่าต่ำกว่าผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงน้อย และอาจสามารถพบผล PCR เป็นบวก คงอยู่ได้ยาวนานมากกว่า 3 สัปดาห์ ข้อควรระวังของการแปลผล PCR คือ การมีผลเป็นบวก “จะแสดงถึงการตรวจพบ viral RNA เท่านั้น โดยอาจไม่ได้แสดงถึงการมีชีวิตของไวรัสเสมอไป”
นั่นหมายความว่า หากตรวจ PCR แล้วได้ผลบวกแต่ผู้ป่วยยังมีอาการแสดงไม่ชัดเจนก็อาจยังไม่สามารถสรุปได้ว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 จริงหรือไม่
สำหรับวิธีการตรวจ antibodies จะเหมาะสำหรับการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีอาการแสดงของโรคมาแล้วนาน 3-4 สัปดาห์ ดังนั้น การเลือกใช้วิธีนี้ “จะต้องทราบ onset ของการเกิดอาการที่ชัดเจน”
หากมีการติดเชื้อจะพบการเพิ่มขึ้นของ IgM และ IgG ในตัวอย่างเลือดของผู้ป่วย โดย IgM จะลดลงจนมีระดับต่ำมากได้ประมาณสัปดาห์ที่ 5 หลังจากมีอาการแสดงของโรคและจะตรวจไม่พบในที่สุด ในขณะที่อาจยังสามารถตรวจพบ IgG ได้อยู่ ในสัปดาห์ที่ 7 หลังจากมีอาการแสดงของโรค
ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 จะต้องเลือกวิธีตรวจวินิจฉัยและแปลผลให้เหมาะสมกับอาการแสดง ระดับความรุนแรงของโรค และ onset ของการเกิดโรคของผู้ป่วยแบบเฉพาะราย
ที่มา: Sethuraman N, Jeremiah SS, Ryo A. Interpreting Diagnostic Tests for SARS-CoV-2. JAMA. Published online May 06, 2020. doi:10.1001/jama.2020.8259

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น