20 พฤษภาคม 2563

ทบทวนเรื่องการกลืนสารกัดกร่อน (caustic agents ingestion)

ทบทวนเรื่องการกลืนสารกัดกร่อน (caustic agents ingestion)

อันนี้เพิ่งรู้ corrosive agents คือ การกัดกร่อนเชิงกล แต่ caustic agent นอกจากกัดกร่อนแล้วยังทำปฏิกิริยาเคมีอีกหลายอย่างทำให้เนื้อเยื่อเสียหายและมีผลแทรกซ้อนตามมามากมาย จึงใช้คำว่า caustic agent ผมอ่านมาจาก review article ของ New England Journal of Medicine ฉบับ 20 เมษายน 2563 นำมาสรุปแบบชาวบ้าน ใครอยากอ่านฉบับเต็มก็ไปที่เว็บนะครับ

1.ส่วนมากเกิดจากอุบัติเหตุ ใส่ภาชนะที่ทำให้คิดว่าดื่มได้ เด็กเอื้อมดื่มถึง พลั้งเผลอ ทำให้การบาดเจ็บส่วนใหญ่ไม่รุนแรง เพราะสารพวกนี้จะใส่สี กลิ่น รส ที่ชวนอาเจียนหรือฉุกใจคิดก่อนเข้าปาก กลุ่มที่จะอันตรายมาก ๆ คือ เจตนากินหรือถูกบังคับให้กิน

2.ประวัติเรื่อง กินสารใด กินนานแค่ไหน ปริมาณเท่าไร และปฐมพยาบาลอย่างไรมาบ้าง มีความสำคัญมาก บอกขั้นตอนการรักษาต่อไปได้เลย ถ้าไม่เสียเวลามากนักให้หยิบสารนั้นมาด้วย เพราะบางทีเนื้อสารกับขวดหรือฉลากไม่ตรงกัน

3.ความเชื่อเรื่องกลืนสารนั้นนี้ เพื่อไปทำให้ปฏิกิริยาเคมีเป็นศูนย์ หรือไปช่วยดูดซับต่าง ๆ ให้เลิกทำได้เพราะหลักฐานสนับสนุนน้อยมาก ให้รีบพามาโรงพยาบาล หลักฐานเดียวที่พอมีคือ การดื่มน้ำมาก ๆ ในคนที่ดื่มได้ ทางเดินหายใจปรกติ อันนี้หวังผลชำระสารที่ตกค้างที่คอและปากให้จางลง ลดอันตรายจากปฏิกิริยาความร้อนได้

4.การใส่สายยางล้างท้อง การกินถ่านกัมมันต์ ห้ามทำเด็ดขาด เพราะเรายังไม่รู้ขอบเขตการบาดเจ็บ อาจทำให้ทางเดินอาหารทะลุ หรือหากทะลุไปแล้ว การใส่สารต่าง ๆ จะทำให้อันตรายต่อทรวงอกช่องอกได้ ดังนั้น ไม่ต้องให้ดื่มหรือใส่สายใด ๆ รีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

5.การบาดเจ็บเกิดได้ทั้งจากฤทธิ์กัดกร่อน การทำปฏิกิริยาเคมีกับเนื้อเยื่อ ปฏิกิริยาความร้อน ทำให้เกิดแผล เกิดเลือดออก เกิดรอยแผลเป็น จนถึงทะลุ เมื่อติดตามไปนาน ๆ จะมีทางเดินตีบแคบลง หรืออุดตันได้  ขึ้นกับประวัติในข้อ 2 แบ่งคร่าว ๆ ก็คือกลืนกรด กลืนด่างอย่างที่เราเข้าใจกัน โดยด่างจะอันตรายกว่าเล็กน้อยในแง่ทำให้เนื้อเยื่อละลายและทะลุได้ง่าย

6.การรักษาเบื้องต้นที่สำคัญคือ การรักษาทางเดินหายใจ เพราะเมื่อกลืนเข้าไป เนื้อเยื่อปาก คอหอย จะบวมมาก อุดกั้นทางเดินหายใจได้ น้ำมูกน้ำลายก็ทะลักออกมาไปอุดทางเดินหายใจได้ ต้องดูแลทางเดินหายใจ ดูดเสมหะ น้ำลาย  และที่สำคัญหากใส่ท่อก็ระวังทะลุหรือเลือดออกด้วย  

7.ต่อมาคือการลดการปนเปื้อน ไม่ว่ากรดด่างที่กระเด็นไปโดนหน้า โดนดวงตา หรืออาเจียนที่ทะลักออกมาอาจมีกรดด่างออกมาด้วย ต้องจัดการดูแลผิวหนัง ใบหน้า ดวงตา (เสื้อผ้า หน้า ผม) ให้เรียบร้อยด้วย

8.การส่องกล้องจะทำใน 24-48 ชั่วโมง ทำเพื่อตรวจสอบความเสียหาย คาดเดาผลแทรกซ้อนว่าจะตีบไหม จะทะลุไหม หรือหากจะใส่สายให้อาหาร ก็จะใส่ผ่านการส่องกล้องนี่เอง ในกรณีที่ไม่สามารถส่องกล้อง อาจตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอกเพื่อตรวจสอบรอยรั่วรอยทะลุ

9.การรักษาด้วยยา ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ายาใดได้ประโยชน์ ดังนั้นการรักษาหลักคือการประคับประคอง ให้สารน้ำ ให้อาหารทางหลอดเลือดดำเพื่อรอเวลาที่กินได้ดี หากแผลไม่รุนแรงอาจงดอาหารวันสองวันก็เริ่มกินทางปาก ถ้าแผลรุนแรงอาจใส่สายให้อาหารและรอนานกว่านั้น หากแผลทะลุคงต้องผ่าตัด  

10.ความสำคัญคือต้องติดตามเรื่องจะตีบไหม จะตันไหม ต้องมาถ่างขยายหรือใส่ลวดค้ำยันภายหลังหรือไม่ เพราะการเกิดแผลเป็นพังผืดต้องใช้ระยะเวลาระยะหนึ่ง หากเป็นการเจตนาต้องปรึกษาจิตแพทย์ หากอุบัติเหตุก็ต้องหาทางป้องกันการเกิดซ้ำ 

สรุปง่าย ๆ ทบทวนแบบนี้แล้วกันนะครับ ยาวไปเดี๋ยวเบื่อ ใครชอบยาว ๆ ไปดูของฝรั่งต้นฉบับ ถึงของผมจะสั้นแต่ก็กระชับ ครบสูตรและอัดแน่นนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น