05 พฤษภาคม 2563

ชะลอการตัดสินใจให้ยาฆ่าเชื้อ

ช้าช้าได้พร้าเล่มงาม : ชะลอการตัดสินใจให้ยาฆ่าเชื้อ
ปัญหาการใช้ยาฆ่าเชื้อเกินจำเป็น คือ ปัญหาที่พบทั่วโลก นำพาสู่ปัญหาการดื้อยา ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ผลเสียจากการใช้ยา โดยเฉพาะโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ที่กว่า 90% เป็นการติดเชื้อไวรัสและยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียไม่ได้ช่วยอะไรเลย
ประเด็นที่ยกมาคือ การติดเชื้อแบคทีเรียแต่แรกและต้องเริ่มยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียแต่แรกมีไม่มาก สิ่งที่พบมากกว่าคือติดเชื้อไวรัสไปสักพัก หากไม่หายจะมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน (ก็แบคทีเรียในช่องปากเราเอง)
เรามีหลากหลายวิธีที่จะคัดเลือกผู้ที่จำเป็นต้องใช้ยา ไม่ว่า CENTOR score, ถ่ายภาพคอหอย ป้ายเชื้อไปตรวจแบบด่วน แต่ในวารสารนี้นำเสนออีกวิธีที่ เออ..ง่ายดีนะ
เขานำเสนอว่า ควรให้คำแนะนำผู้ป่วยว่าให้รักษาตามอาการ ในสองถึงสามวันถ้าไม่ดีขึ้นค่อยเริ่มยาตอนนั้น ก็สามารถทำได้ กำจัดเชื้อได้ดี ผลข้างเคียงของโรคและของยาไม่มาก ถึงจะเริ่มยาก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้หายดีไปกว่าการเริ่มยาภายหลัง และการให้ยาเพื่อป้องกันติดเชื้อแบคทีเรียนั้น ... ไม่มีข้อบ่งชี้นี้
เมื่อทำตามสิ่งที่กำหนด ก็พบว่าอัตราการใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียลดลง ปัญหาระหว่างคนไข้กับผู้ให้บริการสาธารณสุขลดลง และได้จัดสรรยาให้ผู้ที่จำเป็นจริง ๆ พูดง่าย ๆ คือเข้าใจดีและถอยคนละก้าว
แล้วถามว่าในประเทศบางประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะใช้ได้ไหม
มันก็มีโอกาสเป็นไปได้เพราะ
1. ตอนนี้คนเริ่มเข้าใจและยอมรับว่า การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนมากคือ ไวรัสและหายเอง
2. แนวคิดเรื่องใช้ยาฆ่าเชื้อที่จำเป็นเริ่มมากขึ้นในกลุ่มผู้ให้บริการสาธารณสุข
3. จุดบริการสาธารณสุข ทั้ง โรงพยาบาล คลินิก รวมภาครัฐและเอกชน ร้านยา มีมากขึ้นและกระจายได้กว้าง ถ้าสามารถ "ชะลอเวลาให้ยา" อย่างแนวคิดนี้ได้ น่าจะลดการใช้ยาได้อีกมาก
หลายคนบอก...ในมุมมองคนไข้ เขาไม่อยากเสียเวลา ไม่อยากป่วยนาน ไม่อยากมาหาหมอซ้ำ ... มันก็จริงนะ แต่ถ้าเรามองปัญหาระยะยาว ว่าเราจะสร้างสังคมอุดมเชื้อดื้อยาต่อไปหรือไม่ เราก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำ
ส่วนมากที่เจอและได้รับการบอกเล่าคือ เมื่ออาการไม่ดีขึ้นสักสามวัน ก็ไปหาหมอ หมอจะให้ยาฆ่าเชื้อ แล้วก็ดีขึ้น ...ส่วนหนึ่งเพราะมันจะหายในวันที่สี่ แต่เราจ่ายยาก่อนมันหาย และไม่ได้หายจากยา (ที่ต้องให้ยาจริง ๆ มันก็มี แต่ก็ไม่มากนะครับ)
** แต่อย่าลืมว่า คนที่หายภายในสามวันแล้วไม่ต้องมาหาหมอซ้ำ มันเยอะกว่าคนที่ต้องมาซ้ำ และคนกลุ่มนี้เราไม่ต้องให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียไงครับ **
คุณคิดว่าเป็นไปได้ไหม...ไม่สิ ต้องถามว่า เราจะปรับ mindset และ process อย่างไรดี เพราะผมคิดแล้วล่ะว่าเป็นไปได้ แม้จะช้าจะนาน แต่ก็เป็นไปได้
(อาน)​จักรยานของพี่ ราคาไม่กี่ร้อยบาท ถึงช้าอืดอาด แต่ก็พาเจ้า... สุดมันส์
ไปอ่านฟรี ที่นี่
Rowe TA, Linder JA. Delayed Antibiotic Prescriptions in Ambulatory Care: Reconsidering a Problematic Practice. JAMA. Published online April 16, 2020. doi:10.1001/jama.2020.2325

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น