25 เมษายน 2563

95 นักเรียนแพทย์แห่ง แบรเกิน-เบลเซ่น

การฝึกงานหรือประสบการณ์วิชาชีพ ถือเป็นเรื่องสำคัญในการเรียนการสอนยุคปัจจุบัน

ยุคสมัยที่ผมเป็นนักเรียนแพทย์ การได้ออกไปทำวิจัยชุมชน ได้เห็นการปฏิบัติงานของโรงพยาบาลชุมชน การออกไปฝึกทักษะทางศัลยกรรมที่รพ.ต่างจังหวัด ถือเป็นประสบการณ์ที่มีค่ายิ่ง เพราะได้เห็นโลกแห่งความจริง ในยุคนี้สมัยนี้ น้อง ๆ โชคดีมากที่คณะแพทย์ได้ให้โอกาสไปดูงานถึงต่างประเทศ เห็นความก้าวหน้าในอีกแง่มุม

แต่ในสมัยก่อน การเรียนวิชาประสบการณ์อาชีพ อาจจะไม่ได้ "มีความสุข" อย่างเช่นปัจจุบัน แต่ก็ยังทรงพลัง ยากจะหาบทเรียนใด ๆ มาเทียบเคียงได้  ครั้งนี้ เราจะย้อนอดีตไปในเดือนพฤษภาคม ปี 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สองภาคพื้นยุโรปได้สงบลง

ค่ายกักกันแบร์เกิน-เบลเซิน หนึ่งในค่ายกักกันนรกของนาซี ทางตอนเหนือของประเทศเยอรมัน ได้ถูกกองทัพอังกฤษปลดปล่อย ภาพที่เห็นของค่ายนี้ไม่ต่างจากค่ายอื่น ไม่ต่างจากเอ้าชวิทช์ ไม่ต่างจากโซบิบอร์ คือ มีแต่นักโทษที่อ่อนแรง ซูบผอม เจ็บป่วย อุดมไปด้วยศพมากมายนอนปะปนกับผู้รอดชีวิต โรคต่าง ๆ เต็มค่าย  

กำลังทางการแพทย์จำเป็นมาก แต่ในภาวะสงครามแบบนี้จะหาแพทย์ได้อย่างไร ประเทศอังกฤษเองก็บอบช้ำจากสงครามมาก แพทย์หลายพันคนเข้าสู่สนามรบและล้มตาย แต่ยังเหลือคนอีกกลุ่มที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะมาดูแลผู้ป่วยเหล่านี้

ย้อนกลับไปที่เกาะอังกฤษ การตั้งโรงพยาบาล การจัดการการศึกษาระดับอุดมศึกษา การเรียนแพทย์ได้ตั้งรากฐานมั่นคงมาหลายร้อยปี โรงเรียนแพทย์เก่าแก่และโรงพยาบาลเก่าแก่ของอังกฤษ ได้รับการก่อตั้งมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 มีการพัฒนามาเรื่อย โรงเรียนแพทย์ St. Thomas ก่อตั้งในปี 1550 และ โรงเรียนแพทย์ Guy 's Hospital ก่อตั้งในปี 1721  ทั้งสองโรงเรียนนี้ได้ผ่านมรสุมร้อนหนาวมาคู่กับประวัติศาสตร์ชาติอังกฤษ แม้แต่ในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง

พฤษภาคม 1945 นักเรียนแพทย์ 95 คนจากโรงเรียนแพทย์ St.Thomas และ Guy's Hospital ได้เข้าร่วมกับทางกองทัพอังกฤษ เพื่อเข้าสู่กิจกรรมภาคสนาม ประสบการณ์วิชาชีพ โดยเข้าไปดูแลบรรดาผู้ที่ถูกกักกันในค่ายแบร์เกิน-เบลเซิน จำนวนกว่า 43,000 คน

สภาพที่เข้าไปทำให้หนุ่มสาววัย 20 ปี ได้เรียนรู้มนุษย์ เรียนรู้ความทุกข์ยาก เรียนรู้ชะตากรรมที่โหดร้าย นักเรียนต้องเข้าไปแยกศพออกจากคนที่ไม่เป็นศพ นักเรียนหลายคนบอกเล่าว่า ความแตกต่างกันของคนที่เป็นศพกับยังมีชีวิตคือ ยังเดินได้ เท่านั้น

นักเรียนได้เรียนรู้ ใช้วิชาในการตรวจรักษาดูแล บาดแผลจากสงคราม บาดแผลจากการถูกยิง ยาดแผลจากการถูกทารุณกรรม ดูแลโรคระบาดต่าง ๆ วัณโรค ไข้รากสาดใหญ่ บิด แผลติดเชื้อแบบต่าง ๆ  ได้ดูแลจิตใจผู้ที่หวาดผวาอย่างหนัก  บางคนไม่ยอมให้ฉีดยา ไม่ยอมกินยา เพราะพวกเขากลัวว่าจะถูกทดลองทางชีววิทยา  เหมือนอย่างที่เขาถูกกระทำในสมัยนาซีครองอำนาจ 

เวลากว่าหนึ่งเดือนที่ทั้ง 95 คนได้มาเรียนรู้ประสบการณ์นี้ มีนักเรียนหลายคนได้รับบาดแผลทางจิตใจไปด้วย มีสองคนติดวัณโรค เจ็ดคนติดไข้รากสาด หลายคนต้องทนต่อผลข้างเคียงของดีดีที ที่ต้องใช้ฆ่าแมลงในค่าย  แต่ทุกคนก็ได้ประสบการณ์ล้ำค่าในการดูแลรักษาผู้ป่วยโดยไม่เลือกเพศ วัย เชื้อชาติ ศาสนา โรค เป็นการดูแลของมนุษย์ โดยมนุษย์ และเพื่อมนุษย์ อย่างแท้จริง

เรื่องราวต่าง ๆ นี้ถูกเล่าขานมารุ่นต่อรุ่นในโรงเรียนแพทย์ King's Colleges (มีการควบรวม St. Thomas และ Guy's เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ King's Colleges London School of Medicine ในปัจจุบัน) มีการเรียนรู้ อ่านบันทึกประสบการณ์และสิ่งที่เกิดขึ้นกับบรรดาอาสาสมัครรุ่นพี่ผู้หาญกล้า หลายคนมาเป็นอาจารย์และถ่ายทอดเรื่องราวนี้ต่อไป

ตัดมาที่ปัจจุบัน การเรียนการสอนวิชาแพทย์ล้ำหน้าไปอย่างไม่มีข้อจำกัด ลงลึกไปถึงดีเอ็นเอ กว้างไกลไปถึงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เรียนผ่านเครือข่ายออนไลน์ วิชาการลึกซึ้ง แต่สิ่งหนึ่งที่ยังจำเป็นและสำคัญเสมอสำหรับวิชาแพทย์ ไม่ว่ายุคใดสมัยใดจากอดีตไปจนอนาคต คือ การเรียนรู้เกี่ยวกับ "ความเป็นมนุษย์" นั่นเอง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น