11 มีนาคม 2563

COVID 19 ลักษณะทางคลินิกของโรคและโอกาสที่จะเกิดโรครุนแรง

เรื่องราวของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ยังคงสร้างความตื่นตระหนกและหวาดกลัวกับทั้งโลก ทั่วโลกกังวลในเรื่องของความรุนแรงและอัตราการแพร่ระบาดของเชื้อ สำหรับเรื่องของอัตราการแพร่ระบาดนั้น ท่านสามารถติดตามได้จากข่าวสารรายวัน เพียงแต่ต้องใช้วิจารณญาณให้ดีว่ารายใดคือ suspected cases, confirmed cases, IPD cases, severe cases, critical cases, case fatality, mortality และ infectivity rate
ผมหยิบงานวิจัยจากประเทศจีนเกี่ยวกับลักษณะทางคลินิกของโรคและโอกาสที่จะเกิดโรครุนแรง ลงตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine เมื่อสัปดาห์ก่อน และตอนนี้ก็ยังเปิดให้อ่านฟรี ร่วมกับการรายงานผู้ป่วยจากองค์การอนามัยโลก เอามาสรุปให้ท่านได้เข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของโรค ดังนี้ (อาจจะมีการใส่ความเห็นส่วนตัวเข้าไปบ้าง)
1. ข้อมูลจากจีนยังคงเป็นข้อมูลที่น่าเชือถื่อที่สุด เพราะเป็นกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ มีความใกล้เคียงกับภาพรวมการระบาดในโลก มีการเก็บข้อมูลร่วมกับองค์การอนามัยโลกอย่างเป็นระบบ ในภาพรวมแล้วอัตราการเสียชีวิตหากป่วย (case fatality rate) อยู่ที่ 3.2% สำหรับในประเทศจีนจะอยู่ที่ 3.8% ในการศึกษานี้อยู่ที่ 1.4% นับว่าใกล้เคียงสถานการณ์จริงมาก ๆ และอย่าลืมว่าอัตราการเสียชีวิตนี้กำลังลดลงเพราะการตรวจจับและการรักษาที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดอัตราการป่วยตาย ณ ปัจจุบันในจีน (ไม่ใช่อัตราสะสมนะ) คือ 0.4%
2. ยังคงยืนยันว่าการระบาดและการติดต่อส่วนมากเกิดจากการเข้าสู่แดนระบาดหรือสัมผัสใกล้ชิดกับคนที่เป็นโรค คำว่าสัมผัสใกล้ชิดคือในครอบครัวและครัวเรือนเดียวกัน จะมีบ้างที่เป็นนอกครัวเรือนแต่ใกล้ชิดจริง ๆ จากการศึกษานี้ 73% คือคนที่มาจากเมืองอู่ฮั่นและ 31.3% คือมีการสัมผัสใกล้ชิดคนที่มาจากอู่ฮั่น เรียกว่าประวัติการสัมผัสโรค คือ เข้าประเทศนั้น ๆ ยังมีความสำคัญมากในการวินิจฉัย (เหมือนอย่างในไทย ที่เป็นเพียงเฟส 1 และเฟส 2)
3. อาการไข้ยังถือว่าเป็นอาการที่ชัดเจนและบ่งชี้โรคได้ดี พบว่าในคนที่ยืนยัน (PCR) การเป็นโรคนั้นมีไข้ตอนแรกเริ่มแค่ 43.8% นั่นคือคนไข้ที่อาการไม่มากหรือไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อได้ ดังนั้นประวัติสัมผัสโรคจึงสำคัญ (อีกแล้ว) และหากติดตามคนที่มีไข้ไปจนถึงนอนโรงพยาบาลอีกสักสองสามวันจะพบว่าที่ไม่มีไข้จะมีไข้เพิ่มสูงถึง 88.7% เรียกว่าอาการไข้มีความสำคัญ แม้จะไม่ได้เฉพาะเจาะจงแต่ก็เป็นตัวคัดกรองที่พอใช้ได้ จำเป็นต้องอาศัยอาการอื่น ๆ ร่วมอีก
4. อาการอย่างที่สองที่พบบ่อยคือ อาการไอ พบมากถึง 67.8% ทว่าอาการไข้ไอก็พบได้หลายโรค เราจึงต้องดูว่ามีลักษณะทางคลินิกใดอีกที่พบบ่อยเพื่อจะช่วยแยกโรค.. พบว่าการตรวจภาพรังสีทรวงอกที่ผิดปกติ สัมพันธ์กับโรคถึง 86.2% ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพเอ็กซเรย์ธรรมดาหรือซีทีสแกน สามารถนำมาช่วยวินิจฉัยได้ แต่คงไม่สามารถใช้เป็นเกณฑ์หลักในการวินิจฉัยได้ เพราะไม่มีความเฉพาะเจาะจงกับโรคนี้แต่อย่างใด ส่วนการตรวจเลือดที่พอบอกได้คือ เม็ดเลือดขาวชนิดลิมฟ์โฟซัยท์ที่ลดลง ก็พบได้ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตัวนี้ แต่ก็อีกล่ะ..มันไม่เฉพาะเจาะจงอีกแล้ว ไม่สามารถใช้การตรวจใดการตรวจหนึ่งมาฟันธงได้ เพราะท่านไม่ใช่หมอลักษณ์
5. ในจำนวน 1,099 รายที่ยืนยันการเจ็บป่วยนั้น (ในการศึกษานี้) มีเพียง 6.1% ที่เข้าเกณฑ์รุนแรง และมีอัตราการเสียชีวิตเพียง 1.4% เท่านั้น ตัวเลขนี้นับว่าไม่สูงเท่าไร ก่อนหน้านี้มีการรายงานตัวเลขที่มากกว่าเพราะคิดรวมผู้เสียชีวิตที่ไม่ได้ยืนยันโรคด้วยวิธีการ RT-PCR เข้าไปด้วย อย่างที่เคยบอกไปแล้วว่าตัวเลขผู้ป่วยและผู้ต้องสงสัยในจีนมีมากกว่าที่จะตรวจ RT-PCR ได้หมด หากรอการยืนยันอาจจะงาไหม้ไปเสียก่อน อาจหยุดยั้งการระบาดไม่ได้ การจัดการจะจัดการรวมแต่การวิเคราะห์ต้องแยกเคสที่สงสัยและเคสที่ยืนยันออกจากกัน
6. อาการเจ็บป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เรียกว่าแยกยากจากโรคที่มีประจำ ทำให้ 91% ของการวินิจฉัยคือ pneumonia ไม่ว่าโรคปอดอักเสบติดเชื้อจากแบคทีเรีย หรือจากไวรัสเจ้าประจำ ไข้หวัดใหญ่ อาการและการตรวจต่าง ๆ ก็เหมือนกันเลย จะต่างกันแต่ตัวเชื้อที่พบ แถมยากเข้าไปอีกคืออาจพบร่วมกันได้ด้วย เราจึงแยกยากมาก จับมือเชื้อดมไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ร้ายตัวจริง ใครคือผู้จ้างวาน ใครเป็นผู้สนับสนุน ผู้ป่วยเกินครึ่งจึงได้รับยาปฏิชีวนะ และอีกหนึ่งในสามได้รับยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ แถมส่วนมากอาการก็ดีขึ้น จึงแยกได้ยากจริง ๆ ว่าใครคือผู้ร้ายตัวจริง บอกได้แค่ว่าอาจจะเกิดการติดเชื้อร่วมกันได้ อาจต้องให้การรักษาโรคที่พบบ่อยและอันตรายกว่า เร่งด่วนกว่านั่นเอง (รักษาเหมือนแนวทางปอดอักเสบปัจจุบันตามปรกติ)
7. ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังโดยเฉพาะโรคปอด และผู้สูงวัย ยังคงมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรครุนแรงและเสียชีวิต ... คนที่เป็นโรคส่วนมากจะอยู่ในวัยทำงานและไม่มีโรคประจำตัว คนกลุ่มนี้ติดมากกว่าเพราะชีวิตแอคตีฟมากกว่าและแพร่กระจายโรคได้มากเพราะแข็งแรงดี ส่วนคนสูงวัยหรือมีโรคนั้นจะติดน้อยกว่าเพราะไม่ได้ไปสัมผัสโรคมากนัก แต่ทว่าเวลาป่วยแล้วรุนแรงมากกว่า เสียชีวิตมากกว่า กลุ่มคนที่เราควรใส่ใจในการรักษาคือผู้สูงวัยหรือมีโรคประจำตัวนั่นเอง ส่วนการระบาดและการติดต่อ เกิดได้กับทุกคน (แต่ไม่รุนแรง)
8. ณ เวลานี้การแพร่กระจายแบบ ละอองฝอยจากสารคัดหลั่งทางเดินหายใจ คือ การแพร่กระจายหลัก ดังนั้นการล้างมือ เป็นการป้องกันที่ดีที่สุด ส่วนคนที่ติดเชื้อหรือใกล้ชิดคนไข้ ควรสวมหน้ากากอนามัย ที่สำคัญคือ การป้องกันตัวเองแบบนี้มันไม่ได้มีผลดีแค่โควิดสิบเก้า มันยังใช้ได้ดีกับไวรัสโคโรนาที่เราพบบ่อยมากกว่าอีก 4 สายพันธุ์ รวมถึงไข้หวัดใหญ่ ไวรัสทางเดินหายใจและทางเดินอาหารอีกร้อยแปดที่จะปกป้องได้จากการล้างมือ การรักษาอนามัยบุคคล การเลี่ยงแหล่งโรค และการสวมใส่หน้ากากของผู้ที่ป่วย
บทความที่กล่าวมาและจากการนำเสนอโรคโควิดสิบเก้าที่ผมได้นำเสนอมาทั้งหมดตั้งแต่เริ่มระบาด อยากให้ท่านได้ตระหนักรู้และอยู่อย่างฉลาด ว่าโรคนี้คืออะไร ติดต่ออย่างไร รุนแรงเพียงใด เราจะป้องกันตัวเองได้อย่างไร เราจะป้องกันสังคมจากผู้ติดเชื้อได้อย่างไร
ใช้วิจารณญาณและความจริง อย่าใช้กระแสสังคมและความกลัว
ไวรัสอาจจะสังหารเราได้ก็จริง แต่ความกลัวจะทำลายสิ้นทุกสิ่งอย่าง ทั้งสังคม เศรษฐกิจ ตัวเราเอง กระทั่ง...ความเป็นมนุษย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น