23 กุมภาพันธ์ 2563

Milk and Health

มีเรื่องอยากเล่า : นมกลับหัว
เมื่อสักสองสัปดาห์ก่อน วารสารทางการแพทย์อันดับหนึ่ง New England Journal of Medicine ได้ลงบทความบทหนึ่งเป็นบทความทบทวนวิชาการ เรื่อง Milk and Health จากสองนักวิชาการจากฮาร์วาร์ด
เป็นการรวบรวมการศึกษาเอามาสรุป (narrative review) ถึงผลของการดื่มนมต่อร่างกายในแง่มุมต่าง ๆ อืมมม หากไม่คิดอะไรมากก็คงจะไม่อ่าน เพราะเรื่องราวประโยชน์ของนมคงไม่เป็นที่กังขาอีกแล้ว เอาล่ะลองอ่านสักหน่อย ผมหยิบสองประเด็นที่น่าสนใจ
111. ประเด็นแรก .. การดื่มนม ไม่ช่วยลดการเกิดกระดูกหัก ... อืม มีการศึกษาว่าการดื่มนมในช่วงวัยรุ่นไม่ได้ลดการเกิดประดูกหักในอีก 20 ปีต่อมา มันขัดกับที่เราทราบว่านมเป็นแหล่งสำคัญของแคลเซียมและวิตามินดี น่าจะทำให้กระดูกแข็งแรงและไม่หัก แต่ทำไมสรุปออกมาแบบนี้
เมื่อไปติดตามดูในต้นทางจากบรรณานุกรม ก็พบว่าผู้แต่งเขาก็ไม่ได้สรุปผิด ข้อมูลแบบนี้ วิเคราะห์แบบนี้ ผลตามนี้ ไม่ผิดตามกรรมวิธี .. แต่ว่า ข้อมูลเกือบทั้งหมดมาจากการเฝ้าศึกษา ไม่ได้เป็นการทดลอง จึงมีตัวแปรปรวนมากมาย ข้อมูลที่ได้ก็มีความหลากหลายในผลลัพธ์เพราะมาจากหลายการศึกษาหลายเชื้อชาติ ที่ส่วนมากมาจากโลกตะวันตก และหลายการศึกษาที่ใช้ค่าความหนาแน่นของมวลกระดูก เป็นตัวชี้วัด ไม่ได้ใช้โอกาสกระดูกหักของจริง
ที่สำคัญ .. การคิดปริมาณแคลเซียมที่เข้าร่างกายจากที่มีในน้ำนม ไม่เท่ากับการดื่มนม เพราะยังมีอีกหลายสารอาหารในนม ที่ไม่ตรงไปตรงมาเหมือนการใส่แคลเซียมเพียว ๆ
222. ประเด็นที่สอง ... การดื่มนมและผลิตภัณฑ์ของนม จะเพิ่มการเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งลูกหมาก เอาล่ะสิ ว่าข้อหนึ่งไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังเกิดโทษอีกต่างหาก ตกลงดื่มนมมันไม่ดีล่ะสิ
ตามเคย เราก็ไปค้นตามวารสารต้นทางจากบรรณานุกรม เราก็พบว่าที่มาของข้อสรุปมาจากการติดตามเช่นกัน ไม่ได้มาจากการทดลอง ตัวเลขโอกาสเสี่ยงของมะเร็งก็น้อยมาก เช่น 1% หรือ 2% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ดื่มนม "มากนัก" ไม่ได้เทียบกับยาหลอกด้วย กลุ่มคนศึกษาส่วนมากมาจากยุโรปและอเมริกาอีกด้วย เขาดื่มนมมากอยู่แล้ว การเทียบ "ดื่มมาก" กับ "ดื่มไม่มาก" มันต่างกันนิดเดียว ผลของปริมาณนมอาจไม่ชัดเจน
ที่สำคัญ การศึกษานี้ไปเก็บตัวอย่างในคนที่ตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป ที่ปริมาณการดื่มนมไม่ได้มากหากเทียบกับวัยเด็ก ไม่ได้มีการแยกตัวแปรปรวนอื่น ๆ ไม่ว่าพันธุกรรม เชื้อชาติ และยังมีการใช้ PSA ที่เรายังไม่มีความชัดเจนในการวินิจฉัยมะเร็งลูกหมากอีกด้วย
😎😎😎 เรียกว่า กลับไปกลับมาหลายตลบ ในวารสารที่ผู้แต่งเขียนก็ได้ชี้แจงข้อดีข้อจำกัดของแต่ละข้อสรุปเอาไว้อย่างดี ต้องอ่านให้ครบ อย่าหยิบแค่ข้อสรุปไปใช้ หรือหากกังขาต้องไปค้นในอ้างอิงว่าข้อสรุปนี้มาจากชุดความจริงอะไร ใช้วิชาวิเคราะห์วารสารมาช่วยเสมอ ... เห็นไหม วิชาวิเคราะห์ต้นทางที่มาข้อมูลสำคัญมาก
นี่ขนาดมาจากวารสารที่มี impact factor อันดับหนึ่งของวงการแพทย์ และนักวิจัยจากโรงเรียนแพทย์อันดับต้น ๆ ของโลก ยังมีข้อให้คิดวิเคราะห์ พิจารณามากมายเลย
ช่วงนี้คิดมาก เชื่อคนยาก ... แต่ใจง่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น