27 มกราคม 2563

GARFIELD AF

หัวใจห้องบนเต้นระริก atrial fibrillation ... สิ่งที่ต้องคิดถึงเสมอคู่กับการรักษาอัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจ คือ การให้ยาต้านการแข็งตัวเลือดเพื่อลดโอกาสการเกิดอัมพาตและหลอดเลือดแดงอื่น ๆ อุดตัน
ใจความสำคัญของการป้องกันคือ เมื่อหัวใจห้องบนเต้นระริก การไหลเวียนของเลือดในหัวใจจะบกพร่อง มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดในหัวใจสูง แล้วถ้ามันลอยไปอุดหลอดเลือดที่อื่น โดยเฉพาะหลอดเลือดสมอง ก็คือ อัมพาต เราจึงมีมาตรการลดความเสี่ยงโดยให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants) แต่เนื่องจากยาต้านการแข็งตัวของเลือดนี้ก็มีโอกาสเกิดเลือดออกมากเช่นกัน
คำแนะนำปัจจุบันคือ ให้คิดระหว่างผลดีและผลเสียจากการรักษา การให้ยา แล้วปรึกษากับคนไข้ทุกราย ถ้าไม่มีข้อห้ามและคนไข้ยอมรับแนะนำให้ยาทุกคน (recommendation class Ia คือ ได้ประโยชน์ชัดเจนโดยมีการศึกษาวิจัยทางคลินิกและการรวบรวมงานวิจัยดี ๆ มาวิเคราะห์ซ้ำอีกที)
ตอบคำถามของประชาชนทั่วไปว่า ทำไมเมื่อเราเป็นโรคนี้เราจึงจำเป็นต้องกินยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพราะโอกาสเกิดอัมพาตมันสูง และเราสามารถลดโอกาสนั้นได้นั่นเอง และถ้าใครสงสัยว่าแล้วหมอเขาประเมินความเสี่ยงอย่างไร ให้อ่านต่อไปนะครับ
คำแนะนำของอเมริกาเขาให้ใช้ระบบคะแนน CHA2DS2-VASc เพื่อประเมินว่ามีโอกาสเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดกี่เปอร์เซนต์ค่อปี และใช้ระบบคะแนน HASBLED เพื่อมาประเมินโอกาสเลือดออก แล้วคุยกันระหว่างแพทย์ผู้ดูแลและผู้ป่วยว่าจะเลือกการรักษาแบบใด ใข้ยาอะไร
สามารถกดคะแนนได้ทางอินเตอร์เน็ต หรือใช้แอปการคำนวณทางการแพทย์ได้หมด
https://www.chadsvasc.org/
อีกระบบคะแนนคือ GARFIELD AF มาจากการศึกษาที่ชื่อเดียวกัน ทำระบบคะแนนเพื่อมาประเมิน atrial fibrillation เช่นกัน กลุ่มประชากรใกล้เคียงกัน แต่ไม่ใช่อันเดียวกัน เขาเคลมว่าระบบคะแนนการ์ฟิลด์นี้ จะประเมินกลุ่มคนไข้ที่ความเสี่ยงต่ำได้ดีกว่า ให้ความละเอียดในการเลือกรักษาได้ดีกว่า ..แต่ส่วนตัวผม จะใช้อะไรก็ได้ ขอให้ใช้และรักษาตามความเสี่ยงเถิด..
ระบบคะแนนการ์ฟิลด์นี้ จะกรอกตัวเลขหนึ่งครั้ง แล้วออกมาเป็นโอกาสการเกิดอัมพาตใน 24 เดือน อัตราการเสียชีวิต โอกาสเลือดออก ออกมาทั้งสามความเสี่ยงเลย ให้พิจารณากันพร้อมกัน สามารถลองใช้ได้ที่นี่
ผมลองคำนวณดูแล้วก็ไม่ได้แตกต่างกันมากเท่าไรครับ ความยากง่ายพอ ๆ กัน สามารถใช้ได้ทั้งคู่แล้วแต่ถนัด ในประเทศไทยคงใช้ แชดแวสก มากกว่าเพราะแพร่หลายและมีการศึกษามากมายรองรับ โดยเฉพาะการใช้ยาต้านการแข็งตัวเลือดกลุ่มใหม่ (NOACs) ที่อ้างอิงระบบคะแนนนี้
แต่การดำเนินการเพื่อป้องกันและลดโอกาสเกิดอัมพาตจากหัวใจเต้นระริกนี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและตื่นรู้ในหลายหน่วยงาน จึงจะลดอัตราการเกิดอัมพาตและอัตราการเสียชีวิตได้ดังการศึกษาวิจัยทำไว้
หมอเข้าใจ หมอตระหนัก
คนไข้เข้าใจ คนไข้ตระหนัก
ญาติเข้าใจ ญาติตระหนัก
การรักษาจะไปด้วยดี ...ยัง ยังไม่หมด
...
...
รัฐบาลต้องเข้าใจ รัฐบาลต้องตระหนัก และรัฐบาลก็ต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรมอีกด้วย
ส่วนแฟนเพจของเราแค่ตระหนักอาจไม่พอ เพราะส่วนมากจะตัวหนักด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น