31 มกราคม 2563

โคเลสเตอรอลในน้ำเจาะปอด

โคเลสเตอรอลในน้ำเจาะปอด
เมื่อมีการตรวจน้ำเจาะปอดเพื่อหาสาเหตุ เราจะแยกสาเหตุคร่าว ๆ ออกเป็นสองอย่าง คือ exudate และ transudate สองอย่างนี้มีสาเหตุการเกิดที่ต่างกัน การตรวจเพิ่มเติม การรักษาต่างกัน
exudate มักเกิดจากการอักเสบ เช่น การติดเชื้อ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ มะเร็ง
transudate มักเกิดจากสมดุลสารน้ำไม่ดี น้ำไหลออกมานอกหลอดเลือด เช่น หัวใจวาย ไตวาย
ก่อนที่จะทำการเจาะน้ำออกมาตรวจ เราจะคิดล่วงหน้าแล้วว่าน่าจะเป็นจากสาเหตุใด และเมื่อผลออกมาจะช่วยยืนยันความคิด การรักษาได้ การคิดล่วงหน้านี้คือ pretest probability และเมื่อเราตรวจน้ำเจาะปอดด้วยวิธีต่าง ๆ ที่มีความไวและความจำเพาะต่างกัน ความน่าจะเป็นตามที่เราคิดก็จะต่างกัน (posttest probability, predictive value)
สำหรับน้ำเจาะปอด เราใช้เกณฑ์ที่ชื่อว่า Light's criteria โดยคุณหมอริชาร์ด ไรท์ ตั้งแต่ปี 1972 โดยตรวจหาระดับสาร LDH และ โปรตีน เทียบกันระหว่างในเลือดและในน้ำเจาะปอด
- LDH มากกว่า 2/3 ของค่าอ้างอิงสูงสุดในเลือด
- LDH ของน้ำเจาะปอด/LDH ของเลือด มากกว่าหรือเท่ากับ 0.6
- protein ของน้ำเจาะปอด/protein ของเลือด มากกว่าหรือเท่ากับ 0.5
เกณฑ์ที่กำหนดนี้คือ exudate เป็นเกณฑ์ที่ใช้กันมานาน สามารถบอก exudate ได้แม่นยำถึง 98% แต่บอก transudate คลาดเคลื่อนถึง 25%
ในกรณีที่มีความก้ำกึ่ง หรือผลมันไม่เป็นอย่างที่คาด อยากจะหาการทดสอบมาสนับสนุนหรือคัดค้านเพิ่ม อีกหนึ่งตัวเลือกคือ ระดับ cholesterol ในน้ำเจาะปอดและการวัดระดับเทียบกับในเลือด
สำหรับระดับโคเลสเตอรอลในน้ำเจาะปอด หากใช้เกณฑ์ที่ 55 mg/L จะมีความไวถึง 88% และความจำเพาะสูงถึง 96%
สำหรับการเทียบสัดส่วนโคเลสเตอรอลในน้ำเจาะปอดเทียบกับในเลือด หากใช้เกณฑ์ที่ 0.3 จะมีความไวถึง 94% และความจำเพาะถึง 87%
โดยหากโคเลสตอลรอลสูงมากอีกภาวะที่ต้องคิดถึงคือ pseudochylothorax และหากไตรกลีเซอไรด์สูงต้องคิดถึง chylothorax ด้วย เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะแยก exudate กับ transudate ในกรณีที่ก้ำกึ่ง ๆ ครับ
อ้อ..ยังมีเกณฑ์อื่น ๆ อีกนะครับ เช่น ตรวจ NTproBNP ในน้ำเจาะปอด, effusion-albumin gradient น้อง ๆ ที่สนใจลองค้นหาดูได้
"ถ้าสับสนตรวจไขมัน ถ้าสับรางไม่ทัน...ไม่ต้องตรวจ รอวันตาย"
ที่มา
1. Evaluation of the utility of using pleural fluid cholesterol as a new criterion for the differential diagnosis between transudates and exudates. Kostas Kosmidis, Stefanos Patiakas. European Respiratory Journal Sep 2011, 38 (Suppl 55) p498
2. Hamal AB, Yogi KN, Bam N, Das SK, Karn R. Pleural fluid cholesterol in differentiating exudative and transudative pleural effusion. Pulm Med. 2013;2013:135036. doi:10.1155/2013/135036
3. Guleria, Randeep & Agarwal, S & Pande, Jitendra & Misra, Anoop. (2003). Role of pleural fluid cholesterol in differentiating transudative from exudative pleural effusion. The National medical journal of India. 16. 64-9.
4. Shen, Y., Zhu, H., Wan, C. et al. Can cholesterol be used to distinguish pleural exudates from transudates? evidence from a bivariate meta-analysis. BMC Pulm Med 14, 61 (2014). https://doi.org/10.1186/1471-2466-14-61

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น