30 พฤศจิกายน 2562

Shift-Work disorder

Shift-Work disorder
ความผิดปกติของการนอนหลับอันหนึ่งที่ทุกคนคงเคยพบ นอนไม่พอและง่วงเพราะต้องเปลี่ยนเวลานอน
ในคนที่ทำงานหรือใช้ชีวิตแบบใดแบบหนึ่งเป็นประจำ ร่างกายจะมีการปรับตัว มีการปรับสารสื่อประสาทและตั้งเวลาในสมอง ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของเรา ความเป็นจริงก็ในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด สิ่งแวดล้อมเรื่องการกิน การหาอาหาร การทำงาน สิ่งต่าง ๆ จะเป็นตัวปรับเวลาของเราให้พร้อม เช่น ตื่นตัวเมื่อจะทำงาน หรือง่วงเมื่อถึงเวลานอน แต่ถ้าการใช้ชีวิตจะต้องเปลี่ยนรูปแบบไปชั่วคราว
จะต้องอยู่ดึกเพื่อปั่นงานให้เสร็จ ต้องตื่นเช้ามากเพื่อขับรถไกล ๆ ต้องอยู่เวรกะต่าง ๆ ไม่เป็นเวลาที่แน่นอน ลักษณะเช่นนี้จะมีผลทำให้นาฬิกาของเรา "รวน" ได้เช่นกัน และเมื่อวงจรการหลับตื่นของเราอิงตามเวลาพวกนี้ วงจรการหลับตื่นจะเปลี่ยนไปด้วย
เช่น เมื่อต้องทำงานจนดึกให้เสร็จ จะรู้สึกง่วงมากจนแทบทนไม่ไหว หรือเมื่อต้องตื่นเช้ามาก พอถึงเวลาที่ต้องทำงานช่วงบ่ายเราก็จะง่วงมากจนทำอะไรไม่ได้ แล้วพองานต่าง ๆ เสร็จสิ้นไป (อย่าลืมว่ามันก็ไม่ใช่งานปรกติ) เราก็พยายามที่จะพัก แต่ก็นอนไม่หลับ นอนไม่หลับจนหมดเวลาพัก อยากจะหายเพลียก็ไม่หาย ..น่าจะพอนึกภาพ Shift-Work ออกนะครับ
หลายคนก็บอกว่า มันก็เป็นเรื่องปรกติ เราอยู่ในสังคมที่มีเวลากำกับ จะมาทำตามใจตัวไม่ได้ มันก็จริงครับ แต่เราควรบริหารจัดการตัวเองด้วย ไม่ให้เกิด Shift-Work เพราะเมื่อเกิดแล้วมันมีผลเสีย
1. ความคิดการตัดสินใจจะช้าลง สมองที่อ่อนล้าและขาดการพักมีผลส่วนนี้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการขับรถ การทำงานที่ต้องอาศัยความฉับไว ประสิทธิภาพจะด้อยลง
2. การตอบสนองสิ่งเร้าจะช้าลง อันนี้อันตรายมากกับงานเครื่องจักรกลหรือขับขี่ยวดยานพาหนะ
3. รบกวนการทำงานของร่างกาย เช่นใจสั่น เหนื่อย ท้องผูก หรือบางคนที่เป็นโรคลมชัก สามารถกระตุ้นการชักได้ด้วย
4. เพิ่มโอกาสการเกิดมะเร็ง มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งลูกหมาก ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกประกาศแล้วว่า Shift-Work disorder เป็นภาวะก่อมะเร็ง
5. ถ้ามีอาการแบบนี้บ่อย ๆ สลับไปมานานเข้า อาจนำไปสู่โรคนอนไม่หลับเรื้อรังได้ (ความเรื้อรังของโรคนอนไม่หลับใช้เกณฑ์ 3 เดือน)
การแก้ไขเชิงระบบต้องมีการจัดคน จัดงาน จัดเวลาให้เหมาะสม โดยเฉพาะงานที่ต้องรับผิดชอบชีวิตเช่น นักบิน พนักงานขับรถโดยสาร แพทย์พยาบาลในไอซียู กลุ่มงานพวกนี้จะมีการกำหนดว่าห้ามทำงานต่อเนื่องเป็นเวลากี่ชั่วโมง และต้องพักอย่างน้อยกี่ชั่วโมงก่อนทำงานต่อไป
การแก้ไขที่ตัวเอง คือต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพ ให้เสร็จในช่วงเวลาที่กำหนด จะได้ไม่คั่งค้าง ปรับสถานที่พักให้เอื้อกับการนอนของแต่ละคน ไม่ใช่พอจะได้พักก็ไปพักในที่อึกทึกครึกโครม มันก็ไม่ได้ผล ปรับแสง สี เสียง อุณหภูมิ เมื่อได้เวลาพัก
การงีบช่วงสั้น ๆ จะช่วยลดความเหนื่อยล้าสะสมได้ แม้ไม่ได้แก้สาเหตุเหมือนนอนหลับยาว ๆ แต่ก็ดีกว่าฝืนทำขณะเหนื่อยล้าง่วงแล้วเกิดอันตราย เช่น การงีบหลับสั้น ๆ หากง่วงเวลาขับรถ
สารที่ใช้กระตุ้นมากที่สุดคือ กาแฟ แต่ผลมันไม่แน่นอนและหลาย ๆ คนก็ทราบดีว่า "กาแฟไม่ช่วยอะไร" อาจจะทำให้นอนไม่หลับ แต่มันไม่ช่วยเรื่องความล้าและประสิทธิภาพของร่างกายใน Shift-Work
ยาที่รับรองการใช้คือ modafinil และ armodafinil เป็นยาที่กระตุ้นการทำงานของสมอง กินก่อนตองทำงานที่จะอ่อนเพลียหรือง่วงจัด เพราะเปลี่ยนเวลาทำงาน แม้จะกระตุ้นสมองและลดการสัปหงกได้แต่จะง่วงเท่า ๆ เดิม ..ผมไม่เคยใช้นะ ไม่เคยสั่งด้วย เพิ่งเคยรู้นี่แหละ เพราะถ้ามีคนมาถามว่าง่วงมาก ทำอย่างไร คำแนะนำเดียวที่เคยให้คือ..นอน
ไม่อยากมีอาการง่วงให้หยุดพัก ถ้าอยากมีอาการรัก ก็หยุดเพ้อ...แล้วลงมือซะที !!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น