26 พฤศจิกายน 2562

ความดันโลหิตตก หกล้มได้นะ

ภาพนี้คือ ภาพเอ็กซเรย์กระดูกข้อมือ แสดงให้เห็นกระดูกแขนท่อนล่างที่ชื่อ เรเดียส หัก (แขนท่อนล่างมีกระดูกสองท่อนคือ เรเดียสและอัลน่า)
ผู้ป่วยเป็นหญิงมีอายุ ไม่ถึงขั้นสูงอายุ ลุกนั่งแล้วเกิดอาการวูบ คล้ายจะเป็นลม เสียหลักแล้วเอามือรับน้ำหนักตัวได้ทัน โชคดีที่ศีรษะและลำตัวไม่กระแทก โชคร้ายที่กระดูกข้อมือหัก
ผู้ป่วยได้รับการใส่เฝือกและยาแก้ปวดเรียบร้อย
ปัญหาที่ต้องพิจารณาคือ ผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ได้รับยาลดความดันสามชนิด เวลาไปตรวจที่โรงพยาบาลและคลินิกพบความดันโลหิตสูงตลอด จึงได้รับการปรับเพิ่มยา มีอาการวูบ ๆ เวียน ๆ บ่อย คนไข้และหมอคิดว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงควบคุมได้ไม่ดีจึงเพิ่มยา
ปรากฏว่าผู้ป่วยรายนี้มีภาวะความดันโลหิตลดลงขณะลุกยืน (postural hypotension) และให้กลับไปวัดความดันโลหิตที่บ้าน พบว่าความดันโลหิตที่บ้าน (หลังจากหยุดยาไปสองชนิด) แค่ 110/70 เท่านั้น
ในวันที่หกล้ม ผู้ป่วยใช้ยาแก้วิงเวียนซื้อเองจากร้านค้า โดยแจ้งว่าวิงเวียนและได้ยาแก้เมารถมารับประทาน ยานั้นคือ dimenhydrinate อันมีผลข้างเคียงทำให้ความดันโลหิตลดลง หน้ามืด วูบ โดยเฉพาะขณะลุกนั่งได้
สรุปว่า ปัญหากระดูกหัก อาจจะเป็นปัญหาทางอายุรกรรม
1. ความดันโลหิตที่ไม่สูงมากที่บ้าน แต่สูงขึ้นที่รพ. ทำให้ได้รับปรับยาเพิ่มโดยไม่จำเป็น
2. ยาต้านฮิสตามีน ใช้แก้เมารถ แก้แพ้ ต้องระวังการใช้มาก ๆ ในผู้สูงวัย
3. อาการวิงเวียน วูบ ๆ เวลาเปลี่ยนท่า ต้องวัดความดันโลหิตท่านั่งท่ายืนเสมอ
4. เมื่อมีกระดูกหักแบบนี้ ต้องประเมินโรคกระดูกพรุนด้วย
orthopedic medicine

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น