06 พฤศจิกายน 2562

คำแนะนำเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดดำอุดตันในคนที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เมื่อปี 2018

คนทุกคนมีโอกาสจะเกิดลิ่มเลือดดำอุดตันที่ขา เมื่อไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ โดยเฉพาะเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาล จากที่เดินทั้งวันเป็นนอนทั้งวัน ยิ่งเป็นคนไข้วิกฤตในไอซียูเดินไม่ไหวลุกไม่ได้ โอกาสเกิดยิ่งเพิ่มขึ้น และถ้ามีความเสี่ยงประเด็นปัจจัยอื่นจะยิ่งเพิ่มโอกาสเกิดอีก ไม่ว่าจะเคยเป็นมาแล้ว มีโรคประจำตัวที่เกิดเลือดแข็งตัวง่าย ป่วยเป็นโรคมะเร็ง กินยาฮอร์โมนชดเชยในคนหมดฮอร์โมน
สมาคมแพทย์โลหิตวิทยาของอเมริกาได้ออกคำแนะนำเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดดำอุดตันในคนที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เมื่อปี 2018 เหตุเพราะการเกิดลิ่มเลือดดำอุดตันของฝรั่งเขามีมากกว่าเราด้วยพันธุกรรม เขาจึงมีมาตรการการตรวจคัดกรอง มีการป้องกัน เพราะหากเกิดปัญหามันจะเพิ่มค่าใช้จ่ายและสูญเสียเวลาเสียทรัพยากรการรักษามากขึ้น
** เมื่อต้องชั่งน้ำหนักกับโอกาสเกิดลิ่มเลือดที่น้อยกว่าและโอกาสเลือดออกที่มากกว่าในคนเอเชีย ส่วนตัวผมคิดว่า ในคนไทยคงไม่ต้องป้องกันทุกคนที่นอนโรงพยาบาล แต่พิจารณาป้องกันเฉพาะคนที่เสี่ยงสูงจะเกิดลิ่มเลือด โดยชั่งน้ำหนักกับโอกาสเลือดออกด้วย ...อันนี้ความเห็นส่วนตัวนะครับ เพราะส่วนตัวก็เลือกให้เหมือนกันกับคนไข้ไอซียู **
คำแนะนำคือหากป่วยวิกฤตทางอายุรกรรมมีคำแนะนำให้ใช้ยาเพื่อป้องกันเลือดแข็ง มีประโยชน์มากและระดับคำแนะนำหนักแน่น สำหรับการเจ็บป่วยที่ต้องเข้าพักในโรงพยาบาลแต่ไม่ใช่วิกฤตให้พิจารณาเป็นรายไป โดยข้อมูลแล้วการให้ยามีประโยชน์กว่าไม่ให้ยาเล็กน้อย อัตราการเกิดเลือดออกจากยาไม่มากนักและไม่ใช่เลือดออกที่ถึงแก่ชีวิต โดยยาที่ให้แนะนำเป็น low molecular weight heparin เช่น enoxaparin, dalteparin เพราะป้องกันเลือดแข็งได้ดีพอ ๆ กับ heparin แต่เลือดออกน้อยกว่ามาก
ระยะเวลาที่ให้แนะนำในช่วงที่ป่วยและนอนโรงพยาบาล ส่วนการจะให้ต่อเนื่องไปถึงบ้านนั้นประโยชน์น้อยลงมาก มีเพียงบางรายที่อาจมีประโยชน์ เพราะเมื่อให้กลับบ้านหลังหมดภาวะเจ็บป่วยหรือวิกฤต สิ่งที่พบคือโอกาสเลือดออกมากขึ้นและการเกิดลิ่มเลือดดำลดลง การให้ยาจึงไม่เกิดประโยชน์
ข้อมูลเกี่ยวกับยากันเลือดแข็งกลุ่มใหม่ NOACs ที่ออกฤทธิ์เร็ว หมดฤทธิ์เร็ว พบว่าเมื่อมาเทียบกับ low molecular weight heparin แล้วยากลุ่มใหม่เกิดเลือดออกมากกว่า การปกป้องหลอดเลือดดำประสิทธิภาพพอ ๆ กัน และจริง ๆ แล้วข้อมูลของ NOACs ยังน้อยกว่า LMWH มาก ยกเว้นมีโรคที่จำเป็นต้องได้ NOACs อยู่แล้วเช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อ เป็นต้น
แล้วถ้าให้ยาไม่ได้ มีเลือดออกอยู่ จะทำอย่างไร ... มีคำแนะนำการใช้วิธีเชิงกลคือการบีบรัดท่อนขาเพื่อเพิ่มแรงดันแทนกล้ามเนื้อ เพิ่มการไหลเวียน อุปกรณ์ที่แนะนำในแนวทางคือ Pneumatic Compression Device ถุงคลุมขาที่สามารถพองลมเพื่อบีบรัดขาเป็นจังหวะหรือ Graduated Compression Stocking ถุงน่องที่ออกแบบมามีแรงบีบรัดเท้าส่วนปลายมากกว่าส่วนต้นและแรงบีบค่อย ๆ ลดลงเมื่ออยู่ใกล้ต้นขามากขึ้น
อาจใช้อุปกรณ์สองชนิดนี้เมื่อนอนโรงพยาบาลหากมีความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดและไม่สามารถใช้ยาได้ แต่ต้องเข้าใจว่าประสิทธิภาพการป้องกันด้วยยาสูงกว่า ใช้อุปกรณ์เมื่อยาใช้ไม่ได้ และต้องระวังข้อห้ามเช่น ปวดขา มีแผลที่ขา หรือหลอดเลือดแดงที่ขาตีบแคบ ไม่แนะนำใช้อุปกรณ์คู่กับยา ไม่ได้ประโยชน์เพิ่ม แถมเลือดออกมากขึ้นด้วย
สรุปว่าถ้าผู้ป่วยเสี่ยงเกิดเลือดดำอุดตัน แนะนำให้ยาป้องกันมากกว่าใช้อุปกรณ์ แนะนำยาฉีดใต้ผิวหนัง low molecular weight heparin มากกว่าอย่างอื่น เมื่อออกจากโรงพยาบาลก็ไม่ต้องให้ยาต่อ ยกเว้นมีเหตุจำเป็นอื่น ๆ
ความจริงแล้วการป้องกันหลอดเลือดดำที่ขาอุดตันเป็นหนึ่งในข้อกำหนดเวลาดูแลคนไข้วิกฤต แต่พวกเรามักจะลืมพิจารณาเสมอ จะไม่ให้ก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้ระลึกและคิดเอาไว้ด้วยทุกครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น