05 ตุลาคม 2562

เกษียณ "รวบรวมข้อมูลพร้อมไว้ คิดการไกลและวางแผนป้องกัน ทำทุกวันเพื่อสุขภาพที่ดี"

เมื่อถึงเดือนตุลาคมจะมีประชากรกลุ่มหนึ่งเข้าสู่วัยเกษียณ เป็นวัยที่ต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ ผมรวบรวมคำแนะนำจากที่ผมเองเคยเขียนมาตลอดมาแนะนำเพื่อไปปรับใช้นะครับ ด้วยหลักสามอย่าง "รวบรวมข้อมูลพร้อมไว้ คิดการไกลและวางแผนป้องกัน ทำทุกวันเพื่อสุขภาพที่ดี" เรามาอ่านรายละเอียดกัน
"รวบรวมข้อมูลพร้อมไว้" เป็นขั้นตอนการสำรวจ วางแผน อย่าลืมบอกแผนนี้บอกข้อมูลนี้ให้ลูกหลานรับรู้ด้วยนะครับ เขาจะได้ร่วมตัดสินใจ หรือเวลาเป็นอะไรไปจะได้จัดการถูก
1.สิทธิการรักษา ปัจจุบันคนไทยมีสิทธิการรักษาครอบคลุมทุกคน เมื่อถึงวัยเกษียณเราต้องรู้สิทธิการรักษาของเราว่าจะไปรับบริการช่องทางใด
1.1 สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทองที่เรารู้จักกัน ให้ตรวจสอบสิทธิว่ามีสิทธิใช้บริการที่ใด เราสามารถย้ายสถานพยาบาลตามภูมิลำเนาที่เราอาศัยหรือทำงานได้นะครับ โดยตรวจสอบสิทธิและลงทะเบียนได้ที่หมายเลข 1330 หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลประจำอำเภอใกล้บ้าน
1.2 สิทธิประกันสังคม เมื่อเกษียณแล้วหากจะเลือกยุติการส่งเบี้ยประกันก็จะหมดสิทธิ์การรักษาพยาบาลในสิทธิประกันสังคม แต่ถ้าหากต้องการรักษาสิทธินั้นต้องส่งเบี้ยต่อเองตามมาตรา 39 และตรวจสอบด้วยว่าสถานพยาบาลนั้นอยู่ที่ใด สอบถามที่หมายเลข 1506
1.3 สิทธิข้าราชการ ให้ตรวจสอบว่าจะเบิกจ่ายแบบใดหลังเกษียณอายุ ต้องลงทะเบียนจ่ายตรงแบบใด ได้ที่ต้นสังกัดของท่าน
1.4 ประกันภาคสมัครใจ คือประกันชีวิต ทำไว้เท่าไร ยกประโยชน์ให้ใคร บอกคนนั้น บอกลูกหลานด้วย และประกันวินาศภัยคือ ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ทำกับบริษัทใด เบี้ยเท่าไร ประโยชน์เท่าไร ต้องสำรองจ่ายไหม โรงพยาบาลเครือข่ายที่ใด เบอร์ติดต่อ สำรวจให้ครบและบอกคนดูแลด้วย
2. เงินสำรอง มีเงินสำรองจ่ายเพื่อการเจ็บป่วยหรือไม่ เท่าใด เงินจำนวนนี้ควรเก็บไว้ในที่มีความผันผวนทางการเงินต่ำ มีสภาพคล่องสามารถนำออกมาใช้ได้ง่าย และเป็นส่วนหนึ่งของเงินสำรองคือไม่ควรใช้ถ้าไม่จำเป็น
3. โรงพยาบาลใกล้บ้าน โรงพยาบาลที่ระบุไว้ตามสิทธิ์เราจำเป็นต้องรู้ จะไปอย่างไร มีรถสาธารณะไปไหม มีเบอร์ติดต่อเอาไว้ มีอีกกลุ่มโรงพยาบาลที่ควรทราบไว้หาข้อมูลไว้คือ โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดหากมีภาวะฉุกเฉิน ไม่สำรวจทางคมนาคม รถราที่จะไป เบอร์โทรติดต่อ หรือถ้าสามารถหาข้อมูลโรงพยาบาลที่สามารถดูแลโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันและหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน บันทึกเอาไว้เผื่อเกิดเหตุ ในรายฉุกเฉินอันตรายอาจถึงแก่ชีวิต ทางภาครัฐมีสิทธิการรักษาพยาบาลเบื้องต้นที่ดีในทุกสถานพยาบาลให้อยู่แล้วครับ หลังจากนั้นค่อยคิดหาทางแก้ไขต่อไป
4. โรคประจำตัวต่าง ๆ ตอนนี้เป็นโรคใด รักษาแบบใด และถ้าฉุกเฉินจะไปรับการรักษาที่ใด เมื่อเกษียณแล้วสิทธิการรักษานั้นครอบคลุมหรือไม่ ต้องย้ายที่ ต้องเปลี่ยนยาหรือเปล่า ตรวจสอบให้แน่ชัดและอย่าลืมแจ้งลูกหลานด้วย
"คิดการไกลและวางแผนป้องกัน"
1. การรับวัคซีน วัคซีนฟรีจะเหลือแค่วัคซีนไข้หวัดใหญ่เท่านั้น ที่เหลือต้องเสียเงินลงทุนป้องกัน ที่รวบรวมมาคือคุ้มค่า แม้จะไม่ได้กันการติดโรคได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ลดความรุนแรงได้มาก ค่าวัคซีนอาจจะไม่ถูกนักแต่ค่ารักษาแพงกว่าหลายเท่า ค่อย ๆ วางแผนและฉีดสะสมให้ครบ
1.1 ไข้หวัดใหญ่ ฉีดปีละครั้ง รัฐบาลจะให้มาฟรีจำนวนหนึ่งที่อาจจะไม่พอทุกคน สามารถไปขอรับฟรีได้เมื่อมีประกาศประมาณเดือนมิถุนายน ที่เหลือคงต้องเก็บเงินสะสมเดือนละ 50 บาท
1.2 คอตีบ-บาดทะยัก (dT) ฉีดกระตุ้นหนึ่งเข็มทุกสิบปี ง่ายที่สุดคือปีที่อายุลงท้ายหลักสิบ 60-70-80-90-100 โดยหนึ่งในจำนวนที่ฉีดกระตุ้นนี้ขอให้เป็น คอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก (Tdap) อย่างน้อยหนึ่งเข็ม
1.3 งูสวัด วัคซีนจะลดโอกาสการเป็นงูสวัด และหากเป็นจะลดโอกาสการปวดเส้นประสาทเรื้อรังจากงูสวัดได้ ฉีดครั้งเดียวหนึ่งเข็มเริ่มได้ตั้งแต่อายุ 50 ปี
1.4 ปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส ถ้าใครเป็นผู้เสี่ยงการติดเชื้อมาตั้งแต่ก่อนเกษียณจะได้รับการวางแผนมาแล้ว เช่นตัดม้าม แต่คนปรกติทั่วไปเริ่มฉีดเมื่ออายุ 65 โดยฉีด PSV-13 ก่อนหนึ่งเข็มแล้วฉีด PPSV-23 อีกหนึ่งเข็มในปีถัดไป
2. การตรวจคัดกรองหาโรคอันพึงรักษาและป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากโรคพวกนี้ไม่มีอาการหรือจะปรากฏอาการเมื่อรุนแรง การคัดกรองจึงมีประโยชน์
2.1 การตรวจวัดความดันโลหิต อย่างน้อย ๆ ปีละหนึ่งครั้ง ด้วยการวัดที่บ้านหรือที่โรงพยาบาลก็ได้แต่ต้องวัดให้ถูกต้อง
2.2 การตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน อย่างน้อยทุกสามปี หากเสี่ยงมากขึ้นเช่น อ้วน มีประวัติโรคเบาหวานในเครือญาติ อาจคัดกรองถี่ขึ้น
2.3 มะเร็ง คัดกรองโดยการทำแมมโมแกรมตรวจหามะเร็งเต้านมอย่างน้อยทุกสองปี คัดกรองการตรวจมะเร็งปากมดลูกและหาเชื้อ HPV ทุกห้าปีหรือตรวจเซลล์มะเร็งเพียงอย่างเดียวทุกสามปี คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยตรวจอุจจาระทุกปี
2.4 ตรวจความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ความดัน ไขมัน ไตเสื่อม ไขมันในเลือดควรตรวจอย่างน้อยหนึ่งครั้ง เพื่อไปคำนวณความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดและพิจารณาการให้ยา
2.5 ตรวจฟันทำฟันให้เรียบร้อยตั้งแต่เนิ่น ๆ ปัญหาสำคัญในวัยเกษียณคือ ฟันไม่แข็งแรง เคี้ยวลำบาก ทำให้ขาดอาหาร
"ทำประจำทุกวันเพื่อสุขภาพที่ดี" คือการปฏิบัติตัวให้เหมาะสม ลดโอกาสการเกิดโรคและทำให้สุขภาพแข็งแรง ทำวันเดียวอาจไม่เห็นผลต้องทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง ทำแรก ๆ อาจจะลำบากเพราะไม่ชินแต่พอทำไปนาน ๆ เราจะทำได้อย่างสบายและมีความสุข
1.อาหาร
1.1 ลดอาหารจำพวกแป้ง ลดน้ำตาลส่วนเกินจากเครื่องดื่ม น้ำผลไม้ ลดอาหารมัน
1.2 กินอาหารโปรตีนที่มีคุณภาพ เนื้อ นม ไข่
1.3 เพิ่มสัดส่วนผักมากขึ้น จะได้เพิ่มกากใยอาหาร
1.4 ควบคุมอาหารกินให้พอดี ไม่มากและไม่น้อยไป
2. การออกกำลังกาย
2.1 ออกกำลังกายสม่ำเสมอด้วยวิธีแอโรบิกให้มากที่สุด อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
2.2 ใช้การออกกำลังกายที่ไม่น่าเบื่อ เช่น โยคะ ลีลาศ ทำสวน
2.3 ระมัดระวังความปลอดภัยในการออกกำลังกาย อุปกรณ์ออกกำลังต้องป้องกันอันตรายได้
2.4 ถ้ามีโรคประจำตัวให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเช่นหัวใจวายเรื้อรัง ข้อเสื่อม
3.การพักผ่อน
3.1 พยายามอย่านอนงีบกลางวัน
3.2 ลดกาแฟ ชา หากมีปัญหานอนไม่หลับ
3.3 ออกแรงหรือออกกำลังกายช่วงเย็น ทิ้งช่วงก่อนนอนสัก 4 ชั่วโมงจะหลับได้ดีขึ้น
3.4พยายามเลี่ยงยานอนหลับ
4. ปรับสภาพชีวิตจิตใจ
4.1 หางานอดิเรกทำ หรืองานที่ทำเงินได้เล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นรางวัล
4.2 ติดต่อพูดคุยกับเพื่อน กับญาติ หรือเข้าสมาคมผู้เกษียณต่าง ๆ
4.3 ถ้าสามารถทำงานต่อได้โดยไม่เดือนร้อนตัวเองและผู้อื่นก็ทำต่อได้เลย
แนะนำเบื้องต้นโดยทั่วไปเท่านี้ครับ ค่อย ๆ ทำค่อย ๆ ปรับ รับรองว่าคุณภาพชีวิตจะดีกว่านั่งนอนไปวัน ๆ อย่างแน่นอน ดังคำกล่าวที่ว่า
"หมอแซ่บแซ่บไม่มีขาย ถ้าอยากได้เอาเบอร์ห้องมา"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น