19 ตุลาคม 2562

มิติของเวลาและความดันโลหิต

ภาพที่เห็นผมตัดมาจากโฆษณาสารชนิดหนึ่งที่แฟนเพจท่านหนึ่ง ท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ ส่งมาสอบถามว่า คำโฆษณาแบบนี้มันเป็นจริงทางการแพทย์ไหม
ไม่กี่ปีก่อนสมาคมแพทย์โรคหัวใจเคยออกมาประกาศว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ที่อ้างชื่อสมาคมแพทย์โรคหัวใจไปโฆษณา แต่วันนี้ผมไม่ได้มาพูดถึงความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์อย่างไร ผมจะมากล่าวถึงมิติของเวลาและความดันโลหิตครับ
ร่างกายมนุษย์เรามี biological clock นาฬิกาชีวภาพ ที่ไม่ได้ระบุเวลาเป็นกี่นาฬิกากี่นาที ตกฟาก ย่ำรุ่ง ย่ำค่ำ แต่ใช้กลไกฮอร์โมน การรับแสงสว่าง สภาพอุณหภูมิและอากาศมากำหนดนาฬิกาชีวภาพของเรา เมื่อนาฬิกาชีวภาพทำงาน ร่างกายจะเริ่มจัดสรรเวลา นอน ตื่น กิน ตามสภาพบุคคลและสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน เวลาเราไปต่างประเทศที่ข้ามเส้นเวลา ร่างกายเราก็สับสนเราจึงเจ็ตแหลก
เมื่อร่างกายหลับ ระบบต่าง ๆ ของร่างกายจะเข้าสู่โหมดสแตนด์บาย การทำงานต่างจากตอนตื่นพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการหายใจ ระบบสมอง การสั่งการกล้ามเนื้อและระบบหัวใจและหลอดเลือด หากเราใส่อุปกรณ์ติดตามความดันโลหิตตลอด 24 ชั่วโมงเราจะพบว่าโดยธรรมชาติแล้วเมื่อเรานอนหลับ ความดันโลหิตเราจะลดลง (dipping) และเมื่อใกล้ตื่น ระบบต่าง ๆ จะเริ่มทำงานเตรียมพร้อมจะตื่น เช่นเดียวกับความดันโลหิต จะเปลี่ยนจากหลับเป็นตื่น ระดับความดันจะสูงขึ้นที่เรียกว่า morning surge (อย่าลืมว่าตอนหลับมันลดลงนะครับ)
ถ้าเราปรกติดี morning surge จะไม่สูงมากนัก แต่สำหรับบางคนหรือบางภาวะ morning surge จะสูงมากและเราคิดว่าเจ้า morning surge ที่สูงมากนี่แหละทำให้เกิดอันตรายเช่น อัมพาต หัวใจวาย หลอดเลือดตีบ (มักจะตื่นมาแล้วมีอาการเป็นต้น)
ในกลุ่มที่ความดันโลหิตไม่ลดลงตอนกลางคืน (non-dipping) ร่างกายจะต้องอยู่กับความดันโลหิตที่สูงตลอดเวลาแม้ในยามนิทรา คนกลุ่มนี้จะมีโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงขึ้น และจะมี morning surge ที่สูงมากได้ (เพราะฐานตอนหลับแล้วไม่ลดลง)
การใช้ยาลดความดันที่ออกฤทธิ์ไม่คลุมทั้งวัน จะทำให้ความดันโลหิตขึ้นตอนเช้าได้มากเพราะหมดฤทธิ์ยา เกิด morning surge ได้ ปัจจุบันเราจึงนิยมใช้ยาที่ออกฤทธิ์ครอบคลุม 24 ชั่วโมง หรือบางรายที่สามารถตรวจได้ว่ามี morning surge อาจจะมีการให้ยาลดความดันช่วงมื้อเย็นได้ (hydrochlorothiazide เป็นยาอีกตัวที่ออกฤทธิ์ไม่ครอบคลุมทั้งวัน)
ภาวะที่ความดันโลหิตไม่ลดแม้ช่วงหลับกลางคืนจากความตึงเครียด ที่มีปัญหาบ่อย ๆ ทำให้ความดันโลหิตไม่ลดและอาจมี morning surge ได้คือภาวะทางเดินหายในอุดกั้นขณะหลับ (obstructive sleep apnea) ที่จะตื่นบ่อยกลางคืน หรือต่อมลูกหมากโตที่ต้องลุกมาปัสสาวะบ่อย ๆ กลางคืน เพื่อนผมหลายคนบอกว่ายา แอลฟ่าบล็อกเกอร์ ที่ใช้รักษาต่อมลูกหมาก (ที่ผมบอกว่าประสิทธิภาพลดความดันไม่ค่อยดีนัก) ตัวนี้แหละลดความดันได้ดี เพราะคนไข้ฉี่คล่องจึงไม่ต้องลุกบ่อย ความดันเลยไม่ขึ้นสูง นั่นแน่ะ !!
นี่คือตัวอย่างของการรักษาความดันโลหิตสูงเมื่อมาเกี่ยวพันกับกาลเวลา ต้องเป็นนาฬิกาชีวภาพเท่านั้น ไม่ใช่นาฬิกาที่มาเฉพาะเดือนตุลาคมเท่านั้นเหมือนโฆษณาในภาพที่ยกมาให้ดู หรือนาฬิกาที่...ยืม...เขา...มา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น