17 ตุลาคม 2562

ประวัติครบถ้วน ช่วยการวินิจฉัย

เขียนเรื่องวิชาการมากว่าสองพันเรื่องแล้ว คราวนี้มาฟังเรื่องเล่าสอนใจกัน
ไม่กี่วันมานี้ได้รับปรึกษาผู้ป่วยรายหนึ่งเป็นกรณีพิเศษ ไม่ใช่ว่าเป็นโรคที่ยากแต่มีประเด็นน่าสนใจ ผู้ป่วยเป็นสุภาพสตรีอายุ 38 ปี เป็นแม่ของลูกหนึ่งคนพาลูกสาวมาเป็นเพื่อนด้วย ผู้ป่วยมาปรึกษาเพราะรู้สึกใจสั่น มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ มาหนึ่งเดือน เมื่อซักประวัติตรวจร่างกายเรียบร้อย มีการวินิจฉัยแยกโรคเรื่องของไทรอยด์เป็นพิษ และหัวใจเต้นผิดจังหวะ ประเด็นอยู่ต่อไปจากนี้
หมอ : มีอาการมาหนึ่งเดือน แล้วดูแลตัวเองอย่างไร
คนไข้ : ก็ไม่ได้ทำอะไร พักผ่อนและดื่มน้ำมาก ๆ งดกาแฟ
หมอ : ได้ไปรักษาหรือกินยาอะไรบ้างไหมครับ .??
ประเด็นคือ คนไข้ไปพบแพทย์หลายคนก่อนหน้านี้ และได้รับการตรวจวินิจฉัยหลายอย่าง ได้ยาที่มีแต่ซองไม่มีชื่อยามาสัก 5 ชนิดได้ และล่าสุดเมื่อสองสัปดาห์ก่อนไปตรวจที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หมอให้การวินิจฉัยว่า ไทรอยด์เป็นพิษ ได้รับยามารักษาเรียบร้อย นอกเหนือจากนั้นผู้ป่วยเคยมีอาการหอบและซื้อยาพ่นขยายหลอดลมใช้เองเวลารู้สึกเหนื่อย ครั้งนี้พ่นมาตลอดสองสัปดาห์เช่นกัน
หมอ : มียาหลายชนิดเลยนะครับ นึกว่ายังไม่ได้รักษาเสียอีก
คนไข้ : ยังไม่ได้บอก เพราะอยากรู้ว่าหมอจะวินิจฉัยแบบใด ตรงกันไหม
หมอ : การได้ทราบข้อมูลที่ละเอียดจะวินิจฉัยได้แม่นยำขึ้นนะครับ
ผู้ป่วยบอกว่าก่อนหน้านี้ไปพบแพทย์หลายที่และไม่เคยบอกประวัติการใช้ยาและการรักษาเพราะคิดว่าหากบอกไป หมอที่ตรวจจะบอกว่าก็เป็นโรคเดิม ให้รักษาต่อไป ผู้ป่วยไม่ได้เพียงแค่คิดเอง ผู้ป่วยไปรับการตรวจก่อนหน้านี้กับแพทย์ท่านหนึ่งและเมื่อบอกประวัติการรักษาเดิมไป แพทย์ท่านนั้นก็พูดเชิงตำหนิว่า ก็เป็นโรคเดิม มันยังไม่หาย
ครับ .. หลายครั้งที่เราเองรู้สึกว่ารักษาไม่หาย หรือมีข้อกังขาในการวินิจฉัย เราเลือกที่จะไปตรวจหรือรักษาใหม่ซ้ำอีกที่ โดยไม่บอกว่าเคยรักษาที่ไหนมาบ้างหรือเคยได้รับยาอะไร ถามว่ามันจะแม่นยำหรือช่วยได้ไหม ผมขออธิบายว่านอกจากไม่ช่วยอะไรแล้วยังทำให้การวินิจฉัยผิดพลาดได้ด้วย ดังเหตุผลต่อไปนี้
1. อาการที่ไม่หาย อาจจะไม่ได้เกิดจากโรคเดิม อาจเกิดจากยาที่ได้รับมาก็ได้ อย่างกรณีนี้ อาการใจสั่นอาจเกิดจากยาพ่นขยายหลอดลม หากเราไม่มีข้อมูลเราก็จะต้องสืบค้นไปในทางรุกล้ำและราคาแพงมากขึ้น
2. อาการที่ไม่ดีขึ้น อาจเป็นโรคเดิมแต่เงื่อนไขการรักษาที่ยังไม่สมบูรณ์ เช่น ยังไม่ถึงเวลาที่จะดีขึ้น มีปฏิกิริยาระหว่างยา หรือ ไม่ตอบสนอง อย่างในกรณีนี้ถ้าเราได้ประวัติการรักษาไทรอยด์มาก่อน เราจะเพ่งเล็งว่า ยาถึงขนาดการรักษาไหม มีปฏิกิริยาระหว่างยาหรือไม่ทำให้ยาไม่ออกฤทธิ์ หรือมาพิจารณาการกินยาว่าสม่ำเสมอหรือไม่
3. อาการที่เกิดอาจจะเป็นสาเหตุอื่น โรคที่เป็นอยู่เดิมก็ดีอยู่แล้ว เช่นกรณีนี้ผู้ป่วยอาจจะได้รับการรักษาจนดีแล้ว หากตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์วันนี้แล้วผลปกติ หมอคงจะไปหาสาเหตุอื่นของใจสั่น ตัดสาเหตุไทรอยด์เป็นพิษออกไป หรือตรวจฮอร์โมนไทรอยด์แล้วยังสูงอาจให้ยาซ้ำซ้อน หรือรักษาไทรอยด์และหลงประเด็นยาสูดพ่นที่ใช้อยู่แต่ไม่ได้บอกกล่าวกัน
4. อาการที่เกิดมีการดำเนินโรค ระยะเวลาที่โรคดำเนินไป การรักษาที่ผ่านมา ส่งผลต่อการแปลความการตรวจร่างกายและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ อย่างการตรวจรายนี้ ถ้าตรวจฮอร์โมนไทรอยด์ปรกติ ผู้ป่วยอาจหลงคิดว่า ไม่ได้เป็นโรคไทรอยด์ทั้ง ๆ ที่เป็นจริงและรักษาแล้ว ผลร้ายอาจเกืดความสับสนได้
5. อาจพลาดโรคที่เป็นสาเหตุจริง เช่นในกรณีนี้ อาจเหนื่อยใจสั่นจากโรคหืดที่ยังคุมไม่ได้และกำเริบ ถ้าไม่รักษาให้ดีอาจจะคิดว่า การรักษาไทรอยด์แย่ลง ต้องมีการสืบค้นเพิ่ม ปรับเปลี่ยนยากันวุ่นวาย
ยิ่งเรามีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยมากขึ้นเท่าใด การประมวลผลจะดีขึ้น จริงอยู่ว่าจะต้องขึ้นกับหมอที่นำข้อมูลไปใช้ว่าสามารถประมวลข้อมูลนั้นได้ดีเพียงใด แต่สำหรับวัตถุประสงค์ที่มาเล่าวันนี้คือ หากข้อมูลที่ให้เข้าไปมันไม่ครบ หรือผิดเพี้ยน โอกาสจะประมวลผลได้ถูกต้องแม่นยำจะยิ่งน้อยลง
และคุณหมอทั้งหลาย วิชาชีพสาธารณสุขทุกท่านทั้งหลาย การที่ผู้ป่วยไม่สบายใจหรือกังวลในอาการที่ไม่ดีขึ้น อย่าเพิ่งไปตำหนิติเตียนผู้ป่วย เขาอาจแย่ลงจริงจากโรคอื่นก็ได้ พอเราคิดอย่างอคติว่าต้องเกิดจากโรคเดิม เราจะลืมโรคอื่นไป และหลายครั้งที่โรคไม่ดีขึ้นอย่างที่ผู้ป่วยต้องการ หากเราวิเคราะห์ว่าเป็นจากโรคนั้นจริง ๆ แต่ต้องใช้เวลา การด่วนตำหนิผู้ป่วย นอกจากไม่ทำให้หายแล้วอาจจะทำให้ผู้ป่วยแย่ลงได้นะครับ
ใจเขาใจเรา คนไข้ต้องเข้าใจหมอและหมอต้องเข้าใจคนไข้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น