14 ตุลาคม 2562

ยาลดความดัน หรือ ยารักษาอาการต่อมลูกหมากโต



ยาลดความดัน หรือ ยารักษาอาการต่อมลูกหมากโต
ยาที่ชื่อว่า แอลฟา บล็อกเกอร์ หรือ alpha adrenergic antagonist เช่น prazocin, doxazocin, tamsulocin, silodocin สามารถไปยับยั้งการสื่อสารของระบบประสาทซิมพาเธติกทำให้กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือดหย่อนตัว (ซิมพาเธติกจะไปกระตุ้นให้เกร็งตัว) เลือดเดินสะดวกไม่ต้องใช้ความดันมาก ความดันโลหิตจะลดลง
** ก่อนหน้านี้ลงข้อมูลผิด สำหรับ methyldopa, และ clonidine เป็น centrally action alpha-2 agonist ออกฤทธิ์ลดการทำงานระบบประสาทซิมพาเธติกที่สมองและที่ปลายประสาทครับ ขออภัยในความผิดพลาดและขอบคุณแฟนเพจที่ทักท้วงครับ **
แต่ว่าประสิทธิภาพของการลดความดันโลหิตของยากลุ่มนี้ ไม่มากนัก หากไปเทียบกับสี่ยากลุ่มหลักในการรักษาความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังมีผลข้างเคียงสำคัญคือ ทำให้ความดันโลหิตตกลงทันทีขณะลุกยืน เพราะปฏิกิริยาเพื่อบีบหลอดเลือดสู้กับการลุกยืนเสียไป (ลุกยืน เลือดต้องบีบตัวเพื่อไปเลี้ยงสมองให้พอ) เป็นปัญหาสำคัญทำให้วูบ ล้ม เป็นลม ส่วนปัญหาอื่น ๆ ที่ไม่รุนแรงก็พบมาก เวียนหัว ใจสั่น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
ปัจจุบันเราไม่ได้ใช้ยากลุ่มนี้เพื่อลดความดันอีกต่อไป อาจเผื่อไว้เป็นตัวเลือกหากใช้ยาหลักทุกตัวแล้วไม่ได้ผล หรือ methyldopa สำหรับหญิงตั้งครรภ์ เราใช้ยากลุ่มนี้ในอีกเงื่อนไข
โรคต่อมลูกหมากโต ยาแอลฟ่าบล็อกเกอร์ (alpha-1) จะไปทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอกระเพาะปัสสาวะคลายตัว ปัสสาวะจึงไม่ขัด เป็นยารักษาอาการที่ดีในผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต โดยที่ความดันโลหิตไม่กระทบมากนัก แต่อย่างไรต้องระวังความดันโลหิตต่ำมากในขณะลุกยืนอยู่ดี โรคต่อมลูกหมากโตเกิดในผู้สูงวัย โอกาสหน้ามืดเวลาลุกยืนก็เกิดในผู้สูงวัยเช่นกัน
โรคฮอร์โมน catecholamines จากต่อมหมวกไตหลั่งออกมามากกว่าปรกติ (pheochromocytoma) หรือจากปมประสาทซิมพาเธติกข้างไขสันหลัง (paraganglioma) ฮอร์โมนนี้ไปทำงานที่ alpha adrenergic receptor เป็นหลัก การไปบล็อกจึงทำให้อาการดีขึ้น (ความดันลดลง ใจสั่นลดลง)
ถ้าป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ให้ใช้ยาหลักสี่กลุ่มนี้ก่อนนะครับคือ ACEI หรือ ARB, CCB, diuretics และ beta blocker

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น