11 ตุลาคม 2562

adjudicate การตรวจสอบผลการศึกษา

Adjudicate ความหมายตามพจนานุกรมของอ็อกซฟอร์ดคือ “to make an official decision about who is right in a disagreement between two groups or organizations” หรือตัดสิน ประเมินให้ถ่องแท้ชัดเจน สำหรับการศึกษาวิจัยทางการแพทย์บางครั้งเราก็มีการทำ Adjudication
การศึกษาวิจัยทางการแพทย์ในระดับ clinical trials จะมีการควบคุมกระบวนการที่ชัดเจนและรัดกุมตั้งแต่การเลือกผู้ป่วย การศึกษาและการวัดผล แต่ก็จะมีผลบางอย่างที่อาจจะเกิดความโน้มเอียงในขณะศึกษาได้เช่น
1.การวัดผลที่เป็น subjective แม้มีแนวทางการติดตามชัดเจนว่าถึงจุดใดจึงถึงเกณฑ์ของการวัดผลตามแผนของงานวิจัย แต่การวัดบางประการก็ขึ้นอยู่กับผู้ประเมินผลในจุดที่ทำวิจัยนั้น เช่นภาพเอ็กซเรย์ว่าใช่หรือไม่ หรือการให้เกณฑ์ถึงจุดสิ้นสุดการวินิจฉัยโดยกี่คะแนนจากกี่คะแนน แต่ละคนอาจจะให้คะแนนไม่เท่ากันหรือการแปลภาพที่ชำนาญไม่เท่ากัน
2.การทำการศึกษาที่นานเกินไป อาจมีการเปลี่ยนผู้วิจัย เปลี่ยนผู้วัดผล ทำให้การตัดสินแปรปรวนตามคนที่ทำ ตามเวลาที่เปลี่ยนไป
3.การศึกษาที่มีหลายศูนย์วิจัยในหลายประเทศ อุปสรรคด้านภาษา อุปสรรคด้านวัฒนธรรม ที่มีความแปรปรวนในผลลัพธ์ได้
4.การศึกษาที่เก็บข้อมูลและมีผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวนมาก อาจจะมีข้อผิดพลาดการเก็บข้อมูลได้
โดยทั่วไปการศึกษาวิจัยระดับ Randomized Controlled Trials จะมีเกณฑ์ที่รัดกุมพอเสมอและไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำ adjudication แต่เมื่อไรที่ผู้วิจัยต้องการทำให้งานวิจัยนี้หนักแน่นขึ้นเพราะมีข้อที่จะเกิดโน้มเอียงก็สามารถทำเพิ่มได้
แต่การทำ adjudicate จะเสียเงินเพิ่ม เสียเวลาเพิ่ม หรืออาจทำให้งานวิจัยมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่นกัน จึงไม่ได้เป็นข้อบังคับพื้นฐาน การตั้งคณะกรรมการ adjudication ก็จะต้องเป็นอิสระอีกชุดเช่นกัน ส่งข้อมูลไปอีกชุดเช่นกัน
ถ้าผู้วิจัยคิดว่าโปรโตคอลมีความเข็งแรงเพียงพอ ผู้วิจัยมีพื้นฐานความเข้าใจเพียงพอและการควบคุมงานวิจัยทำได้ดีแล้วอาจไม่ต้องทำ adjudicate ก็ได้
ผมขอยกตัวอย่างอันหนึ่งที่ดี จากวารสาร JAMA Network Open เรื่องการเปรียบเทียบงานวิจัยที่โด่งดังมากหนึ่งงานคือการศึกษา POINT เป็นการศึกษา เรื่องการให้ยาต้านเกล็ดเลือดสองชนิดคือ clopidogrel และ aspirin ในผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตชนิดไม่รุนแรงหรืออัมพาตชนิด TIA เทียบกับการให้ aspirin อย่างเดียวจะมีโอกาสเกิดอัมพาตซ้ำที่เก้าสิบวันต่างกันหรือไม่และเลือดออกต่างกันหรือไม่
การศึกษานี้มีการเก็บข้อมูลซับซ้อน จำนวนคนเข้าร่วมมาก ใช้เวลานานและมีหลายประเทศเข้าร่วม การวัดผลจะมีแนวทางที่ชัดเจนออกจากผู้วิจัยไปยังศูนย์ที่เข้าร่วมวิจัยให้ตัดสินผลจากแนวทางนั้น แต่อย่างที่กล่าวไปตอนต้น มีข้อที่จะทำให้เกิดความโน้มเอียงพอสมควร ผู้วิจัยได้เอาข้อมูลชุดเดียวกันนี้ลองมาทำ adjudicate โดยผู้ตัดสินผลที่เป็นอิสระอีกสองชุดมาวิเคราะห์ผลซ้ำ ผลที่ออกมาเป็นดังนี้
สำหรับผลโดยรวมคือการเกิดอัมพาตหรือหลอดเลือดหัวใจตีบ :
hazard ratio เดิม 0.76 เมื่อมาทำ adjudicate เท่ากับ 0.75 โอกาสเกิดผลรวมลดลงในกลุ่มได้รับยาสองตัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งคู่
สำหรับผลการเกิดอัมพาต :
hazard ratio เดิม 0.74 เมื่อมาทำ adjudicate เท่ากับ 0.72 โอกาสเกิดอัมพาตลดลงในกลุ่มได้ยาสองตัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งคู่
สำหรับผลการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ :
hazard ratio เดิม 1.26 เมื่อมาทำ adjudicate เท่ากับ 1.44 โอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้นในกลุ่มได้รับยาสองตัวแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติทั้งคู่
สำหรับอัตราการเสียชีวิต :
hazard ratio เดิม 1.26 เมื่อมาทำ adjudicate เท่ากับ 1.51 โอกาสเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดเพิ่มขึ้นในกลุ่มได้ยาสองตัวแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติทั้งคู่
สำหรับผลข้างเคียงเลือดออก :
hazard ratio เดิม 2.58 เมื่อมาทำ adjudicate เท่ากับ 2.32 เลือดออกมากกว่าในกลุ่มได้ยาสองตัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งคู่
ความเหมือนของข้อมูลระหว่างไม่ adjudicate กับที่มาทำ adjudicate เหมือนกัน 90.7% ทำให้ความน่าเชื่อถือมาก ยกเว้นอัตราตายโดยรวมจากโรคหลอดเลือดที่ความเห็นของการศึกษาเดิมและ adjudication ที่เห็นตรงกันเพียง 58%
POINT trial ที่มีข้อสังเกตว่าผลอาจจะมีความโน้มเอียง แต่ภายใต้การควบคุมงานวิจัยที่ดี เมื่อนำมาทำ adjudication ผลจึงไม่ได้แตกต่างกัน
สามารถตามอ่านฉบับเต็มได้ฟรีที่นี่
https://jamanetwork.com/…/jamanetworko…/fullarticle/2749447…

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น