04 ตุลาคม 2562

แนวทางการรักษาโรคปอดอักเสบติดเชื้อจากชุมชนปี 2019

โรคปอดอักเสบติดเชื้อเป็นโรคที่พบได้บ่อยมาก โดยเฉพาะกับผู้สูงวัย ครองอันดับการป่วยและการนอนโรงพยาบาลมาตลอด เร็ว ๆ นี้ทางสมาคมโรคทรวงอกและสมาคมโรคติดเชื้ออเมริกาได้ออกแนวทางการรักษาโรคปอดอักเสบติดเชื้อจากชุมชนปี 2019 ออกมาใหม่เอี่ยม มีหลายเพจการแพทย์ได้รีวิวและสามารถดาวน์โหลดแนวทางมาอ่านได้ฟรี เป็นแนวทางที่อ่านสนุกเพราะใช้การถามตอบเป็นแกน
แต่สำหรับชาวบ้านชาวเรา มีอะไรต้องรู้บ้าง
1. โรคปอดอักเสบติดเชื้อ ในที่นี้คือติดเชื้อจากชุมชน หมายถึงไม่ได้มาจากโรงพยาบาล ไม่ได้เกิดจากเชื้อฉวยโอกาสในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันไม่ดี เราท่านมีโอกาสเป็นเท่า ๆ กัน และหมายถึงการติดเชื้อเฉียบพลันด้วย เป็นมาไม่เกิน 5 วัน ไข้สูง ไอเหนื่อย มีเสมหะ เจ็บหน้าอกเวลาไอหรือหายใจลึก ตรวจร่างกายมีความผิดปกติของปอดและเอ็กซเรย์ปอดพบความผิดปกติ
2. เมื่อคุณมีอาการเหล่านี้ ไปหาหมอและได้รับการตรวจวินิจฉัยแล้วคุณหมอเขาจะจัดกลุ่มเราออกเป็นสองกลุ่ม คือ อาการไม่หนักมากไปรักษาที่บ้านได้แล้วนัดมาติดตาม อีกแบบคืออาการหนักตั้งแต่เริ่ม หายใจล้มเหลวหรือช็อกติดเชื้อซึ่งแนะนำเข้าไอซียูเลย (เมืองไทยคงยากหน่อย) หรืออาการก้ำกึ่งและผู้ป่วยเป็นคนที่มีโรคประจำตัวอันทำให้โรคติดเชื้อแย่ลงเร็ว อันนี้ก็จะได้พักรักษาในโรงพยาบาล
3. คุณหมอจะให้การรักษาแบบที่เรียกว่า "empirical treatment" คือให้ยาปฏิชีวนะครอบคลุมเชื้อโรคที่เป็นไปได้ พิจารณาจากการระบาดในพื้นที่นั้น ข้อมูลการดื้อยาในพื้นที่นั้น โรคประจำตัวที่มี การเก็บเสมหะเพาะเชื้อทำเพื่อยืนยันเชื้อก่อโรคและตรวจว่าไวต่อยาปฏิชีวนะตัวใด เพื่อปรับยาให้เหมาะสม ไม่ใช้ยาโอเวอร์ ไม่งั้นเชื้อดื้อยาหมด
4. แต่ว่ากว่าจะได้ผลบางทีก็นานมาก และการรักษาปอดอักเสบติดเชื้อที่ไม่รุนแรง รักษาที่บ้านได้ก็ไม่ได้ปรับยามากนักหรือปรับยาไม่ทันเพราะหายก่อน จึงนิยมเพาะเชื้อในรายอาการรุนแรง ในรายต้องแอดมิท และไม่แนะนำให้เพาะเชื้อจากเลือด โอกาสได้เชื้อตรงกับความจริงไม่มากนัก ยกเว้นอาการหนักหรือจะแยกเชื้อก่อโรคอื่นด้วย
5. เมื่อคุณหมอรักษาแล้วจะใข้อาการและการตรวจร่างกายติดตามผล ไม่ได้ตรวจเอกซเรย์ติดตามทุกรายไป มันไม่ได้เกิดประโยชน์มากนัก โดยทั่วไปให้ยาแล้วมักจะตอบสนองดี เมื่ออาการดีแล้วให้ยาต่อเนื่อง 5-7 วัน ส่วนในรายที่นอนโรงพยาบาลจะให้ยาทางหลอดเลือดจนอาการดีแล้วปรับเป็นยากินอีก 5-7 วันเช่นกัน (ผลเพาะเชื้อน่าจะกลับมาแล้ว)
6. ยาที่แนะนำในรายที่อาการไม่รุนแรงใช้ยากิน amoxicillin, doxycycline หรือยา macrolide (azithromycin, clarithromycin) อย่างใดอย่างหนึ่ง ยกเว้นว่าในพื้นที่นั้นดื้อยามากจะไม่ใช้ macrolide เดี่ยว ๆ หรือถ้ามีโรคร่วมอื่น ๆ มีโอกาสแย่ลง คุณหมอจะให้ยาสองชนิด (beta lactam and macrolide) หรือยาฆ่าเชื้อกลุ่ม quinolonesที่ระดับยาสูงในทางเดินหายใจและครอบคลุมเชื้อได้ดี คือ levofloxacin หรือ moxifloxacin
7. ถ้าอาการรุนแรง หรือมีโอกาสติดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลเช่นเพิ่งออกจากโรงพยาบาลหรือต้องเข้ามารักษาโรคอื่น ๆ ในโรงพยาบาลบ่อย ๆ การใช้ยาจะเปลี่ยนไปเล็กน้อยเพราะต้องคิดถึงเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลสองชนิดที่สำคัญคือ Pseudomonas และ MRSA หากเสี่ยงติดเชื้อดื้อยาจากโรงพยาบาล ต้องให้ยาที่ครอบคลุมเชื้อสองชนิดนี้ด้วย ต้องให้ทางหลอดเลือดดำ มีข้อจำกัดข้อห้ามมากมาย ราคาแพงกว่ารักษาแบบผู้ป่วยนอกหลายเท่า
8. ในช่วงที่ไข้หวัดใหญ่ระบาด คงต้องคิดถึงการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ด้วย ยิ่งถ้ามีประวัติสัมผัสโรคก็ต้องคิดถึงมากขึ้น คุณอาจจะได้รับการทดสอบการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ หรือได้รับการรักษาด้วยยาแบบ empirical เช่นกัน เพราะการตรวจไข้หวัดใหญ่ที่แนะนำและแม่นยำคือการตรวจหาสารพันธุกรรมโดยวิธี PCR ในบ้านเราทำไม่ได้ทุกแห่งและใช้เวลาทำสองถึงสามวัน อาจจะเลยเวลาที่ดีที่สุดในการรักษาไปแล้ว ส่วนการตรวจ antigen นั้นปัจจุบันได้รับคำแนะนำลดลงเพราะมีผลไม่แน่นอนเท่า
9. ปอดอักเสบติดเชื้ออีกชนิดที่มาจากบ้านจากชุมชนคือการสูดสำลัก ไม่ว่าจะเกิดในผู้ป่วยที่มีปัญหาการกลืน ผู้ป่วยอัมพาต ผู้ป่วยใส่สายให้อาหาร หรือหมดสติเช่นเมา ให้การรักษาเหมือนปอดอักเสยติดเชื้อจากชุมชนเหมือนข้อที่กล่าวมา แต่ถ้าหากมีหลักฐานชัดเจนว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดไม่ใช้ออกซิเจน (มักพบจากช่องปาก) เช่นเป็นโพรงฝีหรือหนอง จึงให้ยาฆ่าเชื้อครอบคลุมเชื้อที่ไม่ใช้ออกซิเจน
10. กรณีพิเศษอื่น ๆ จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไปเช่นการให้ยาสเตียรอยด์ การตรวจหาเชื้อก่อโรค Legionella การพิจารณาให้ยาครอบคลุมเชื้อดื้อยา ข้อสิบนี้คุณหมอต้องไปอ่านให้ละเอียด แนวทางในปี 2019 ต่างจากปี 2007 มากทีเดียว
รายละเอียดไปอ่านได้ที่นี่ ย้ำว่าคุณหมอทุกคน พยาบาล เภสัชกร ควรอ่านทุกคน เพราะนี่คือโรคที่พบบ่อยจริง ๆ เจอทุกวันเลยก็ว่าได้ ภาษาไม่ยากอ่านในช่วงพักกินข้าวก็จบครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น