21 กันยายน 2562

นิ่ว ตอนที่สาม ทำอย่างไรให้ไกลนิ่ว

ตอนที่สาม ทำอย่างไรให้ไกลนิ่ว
เมื่อจบสองตอนแรก ผมคิดว่าทุกท่านคงเข้าใจนิ่วกันดีขึ้น แต่เราก็ไม่อยากเป็นนิ่วใช่ไหม เราจะมีวิธีอันใดที่จะหลีกเลี่ยงได้บ้าง แม้ว่ากลไกการเกิดนิ่วตามธรรมชาติยากนักจักไปปรับเปลี่ยน แต่ปัจจัยภายนอกเราพอปรับได้
1. ดื่มน้ำให้พอ ไม่อยากใช้คำว่าดื่มน้ำมากเพราะนิ่วหลายชนิดถึงดื่มมากก็ยังเกิด ใช้คำว่าดื่มให้พอจะดีกว่า ไม่มีตัวเลขมาตรฐานนะครับ แต่ถ้าทั่ว ๆ ไปก็วันละหนึ่งลิตรถึงหนึ่งลิตรครึ่ง วันไหนร้อนก็ดื่มมาก วันไหนเหงื่อออกมากทำงานหรือออกกำลังมาก ก็ต้องดื่มมากชดเชย วันไหนร้องไห้หนักแฟนทิ้ง ก็ทำใจ ใช้หัวเข่าเช็ดน้ำตา ถ้าไม่หายเศร้าโศกา ใช้หัวไหล่ผมแทนก็ได้
2. น้ำอะไร ไม่ต้องเป็นน้ำกรด น้ำด่าง น้ำดาวอังคารอะไรทั้งสิ้น น้ำดื่มสะอาด ๆ ที่เราดื่มนี่แหละครับ ถูก ดี มีคุณค่า
3. อย่ากลั้นฉี่ อันนี้ไม่ได้เป็นปัจจัยโดยตรง แต่ถ้าไม่กลั้นมันก็ไหลดี แรงดันไม่สูงโอกาสตกตะกอนไม่มาก และหากเรามีนิ่วโดยไม่รู้ตัวมาก่อน การไม่กลั้นฉี่จะลดโอกาสการติดเชื้อได้อีกด้วย
4. กินแคลเซียมปรกติ อย่างที่บอกการกินอาหารแคลเซียมสูงไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดนิ่ว แถมลดโอกาสการเกิดนิ่วแคลเซียมออกซาเลตด้วยซ้ำ และแนะนำแคลเซียมจากอาหาร แคลเซียมเม็ดจะใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้นนะครับ (แคลเซียมจากอาหารไม่เพิ่มการเกิดนิ่ว ส่วนแคลเซียมเม็ดไม่สามารถบอกแบบนั้นได้)
5. ยาหลายชนิดสามารถทำให้เกิดนิ่วได้ เช่น acyclovir รักษางูสวัด เริม หรือยาต้านเชื้อเอชไอวีรุ่นโบราณ indinavir ถ้าใช้อยู่ต้องดื่มน้ำมาก ๆ นะครับ
6. คุณหมออาจให้ยาบางชนิดเพื่อลดการเกิดนิ่ว **ในคนที่เคยเป็นนิ่วแล้ว** เช่นยาขับปัสสาวะ thiazide ลดการขับแคลเซียมทางปัสสาวะ หรือน้ำเกลือแร่โปตัสเซียมซิเตรต ทั้งสองนี้ช่วยลดโอกาสการก่อนิ่ว
7. ถ้าเป็นนิ่วแล้วควรทำตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัดนะครับ อย่าขาดนัด ติดตามเสมอแม้จะดีขึ้นหรือผ่าตัดแล้วก็ตาม แต่ละคนจะมีการป้องกันที่ต่างกันเล็กน้อยในรายละเอียด
หวังว่าท่านคงรู้จักนิ่วทางเดินปัสสาวะกันมากขึ้นและเข้าใจวิธีรักษา ป้องกันมากขึ้นนะครับ ตอนต่อไปเราจะมารู้จักนิ่วแบบอื่น ๆ บ้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น