06 สิงหาคม 2562

ซัลโมเนลล่า salmonella ตอนที่ 1

การ์ตูนดรากอนบอล เริ่มจากการพบกันของบลูม่าและโกคู เรื่องราวต่อไปนี้ก็เกิดขึ้นเพราะการพบกันของหมอคนหนึ่งกับเอกสารรายงานผลการเพาะเชื้อในกระแสเลือดว่า salmonella

การติดเชื้อ salmonella เป็นโรคที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เริ่มเรื่องราวที่ตัวเอกของเรื่องเชื้อซัลโมเนลล่า เชื้อซัลโมเนลล่าเป็นที่รู้จักมาประมาณร้อยปี เป็นเชื้อแบคทีเรียรูปแท่ง ตัวยาว มีหนวดแฟลกเจลล่าเอาไว้เคลื่อนที่ได้ ถ้าจัดหมู่ตามการติดสีย้อมที่เรียกว่าสีกรัม เชื้อซัลโมเนลล่าจัดเป็นกรัมลบติดสีออกสีแดง (กรัมบวกจะติดสีน้ำเงินม่วง) เชื้อซัลโมเนลล่าสามารถก่อโรคในคนได้หลากหลายมากตั้งแต่ติดเชื้อที่แหล่งเข้าคือทางเดินอาหารและลำไส้ ไปจนถึงในกระแสเลือด ข้ามไปถึงอวัยวะต่าง ๆ เช่นที่หัวใจ เยื่อหุ้มสมอง ในไขข้อ หนึ่งในการติดเชื้อกระแสเลือดที่เพาะเชื้อยากและต้องคิดถึงเสมอในการติดเชื้อกึ่งเฉียบพลัน

เชื้อซัลโมเนลล่ามีหลายตัว หลายกลุ่ม แยกเชื้อและระบุชนิดได้หลายระบบ แต่ที่เราแยกทางคลินิก คือแยกตามการรักษาการจัดการ เราจะแบ่งออกเป็นสองชนิดคือ ไข้ไทฟอยด์ (typhoid fever หรือ enteric fever) และการติดเชื้อซัลโมเนลล่าที่ไม่ใช่ไทฟอยด์ (non typhoidal salmonellosis)
  ไข้ไทฟอยด์มีความสำคัญคือตัวเชื้อจะอยู่ในคน และก่อโรคในคน มีคนเป็นแหล่งที่อยู่ อาการของโรคจะรุนแรงกว่า มีผลแทรกซ้อนได้มากหากจัดการไม่ถูกต้อง  ดังนั้นเราจะมาพูดถึงไข้ไทฟอยด์กันก่อน

  typhoid ปรกติ suffix -iod จะแปลว่าเสมือนเช่น pemphigoid คือโรคผิวหนังที่คล้าย pemphigus หรือปฏิกิริยา anaphylactoid คือปฏิกิริยาที่คล้าย anaphylactic

  ไข้ไทฟอยด์ในอดีตเรียกว่าอาการเหมือนไข้ไทฟัส ไข้ไทฟัสหรือไข้รากสาดใหญ่ในภาษาไทย มาจากภาษาอังกฤษ typhus มาจากคำกรีก typhos ที่แปลว่าเมฆหมอก ขุ่นมัว เป็นคำเรียกการรับรู้สติของไข้ไทฟัสในยุคก่อนที่สุดท้ายปลายทางจะมีการรับรู้สติที่เสื่อมลง เหมือนจิตขมุกขมัว รับรู้บ้าง ไม่รับรู้บ้าง เพราะผู้ป่วยไข้ไทฟัสในสมัยก่อนเมื่อไม่ได้รับการดูแลที่ดีจะมีอาการเยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ (meningoencephalitis) ทำให้ฟั่นเฟือน

  ไข้ไทฟัสมีมานานตั้งแต่อดีตแล้ว แต่เพิ่งมารู้ว่ามีพาหะนำโรคเป็นตัวหมัดมาประมาณร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ในยุคสงครามต่าง ๆ ไม่ว่าสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามไครเมีย หรือภาวะโหดร้ายจากสงครามเช่นในค่ายกักกัน ส่วนมากจะเสียชีวิตจากไทฟัสมากกว่าปืนและระเบิดในสงครามเสียอีก
  แต่ว่าไข้ไทฟอยด์ก็มีบางลักษณะที่ไม่เหมือนไทฟัสเสียทีเดียว เป็นจุดที่คิดว่าตัวเชื้อก่อโรคคงเป็นคนละตัวกัน แต่ในเวลาที่ยังไม่ทราบว่าเชื้ออะไร ขอเรียก เสมือนไทฟัส หรือ ไทฟอยด์ หรือ ไข้รากสาดน้อยไปก่อน

  ลักษณะสำคัญของไข้ไทฟอยด์ หรือ เอนเตอริก ฟีเวอร์ (enteric fever) คือมีอาการไข้ มีอาการปวดจุกแน่นท้อง บางรายอาจมีปวดท้องมาก และส่วนใหญ่เวลาที่ไข้ขึ้นสูงมักจะมีชีพจรเต้นช้า เรามาดูที่อาการปวดท้องที่เป็นอาการที่พบบ่อยในไข้ไทฟอยด์ จนได้ชื่อว่า enteric คือลำไส้ enteric fever

  การติดเชื้อไทฟอยด์ หรือให้เฉพาะเจาะจงคือเชื้อ ซัลโมเนลล่า ไทฟี่, ซัลโมเนลล่า พาราไทฟี่ ที่มีแหล่งก่อโรคในคนและมีคนเป็นแหล่งสะสมโรคและแหล่งแพร่กระจายโรค เชื้อทั้งคู่จะติดทางระบบทางเดินอาหาร การกิน การปนเปื้อนจากอาหารหรือสิ่งแวดล้อม เมื่อเข้าไปในทางเดินอาหารจะเข้าไปที่อวัยวะเป้าหมายคือเนื้อเยื่อน้ำเหลืองที่ลำไส้ เนื้อเยื่อเซลล์ภูมิคุ้มกันนี้อยู่ใต้ผิวลำไส้อยู่กันเป็นกลุ่มและกระจุกก้อนเป็นปื้น เรียงตัวกันหลายปื้น คอยดักจับเชื้อโรคที่จะเข้ามาจากทางเดินอาหาร อีกหนึ่งเชื้อที่ชอบมาที่นี่คือเชื้อไวรัสโปลิโอ เรียกปื้นเนื้อเยื่อนี่ว่า Peyer's patch

  เมื่อเชื้อไทฟอยด์มาถึงที่นี่จะเกิดปฏิกิริยาแบ่งตัวเพื่อต่อต้านเชื้อ การแบ่งตัวและขยายตัวของปื้นเซลล์ภูมิคุ้มกันนี้จะเกิดอาการปวดท้อง จุกแน่นหรืออาจมีอาการเหมือนลำไส้อุดตันได้ ทำให้การติดเชื้อไทฟอยด์มีอาการปวดท้องเด่นมาก ในบางรายที่ติดเชื้อรุนแรงอาจมีแผลที่ลำไส้หรือลำไส้ทะลุได้เลย

เกร็ดเล็กน้อยคือเจ้าเชื้อนี้จะติดง่ายขึ้นหากกรดในกระเพาะลดลง เป็นโรคต่าง ๆ ที่มีแผลในลำไส้ หรือได้รับยาจนจำนวนเชื้อประจำถิ่นในลำไส้ลดลง การใช้ยาลดกรด การได้รับยาฆ่าเชื้ออันเกินจำเป็นจึงเป็นข้อควรระวังการติดเชื้อตัวนี้ และถ้าหากรักษาล่าช้าอาจทำให้เข้าสู่ระยะพาหะ แพร่เชื้อโดยที่เราไม่มีอาการใด ๆ ทางอุจจาระได้ ซึ่งปัจจุบันนี้ลดลงมากเพราะสุขอนามัยที่ดีขึ้นและการรักษาที่เร็วมากกว่าแต่ก่อน

  นอกเหนือจากอาการไข้ ปวดท้องแล้วอาการอย่างอื่นแทบจะแยกยากจากการติดเชื้อทั่วไป ไม่ว่าปวดเมื่อย อ่อนเพลีย ปวดตามข้อ ประวัติการเข้าสู่สถานที่ระบาดของไทฟอยด์จึงสำคัญมากและประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังถือว่าเป็นแดนระบาดของไข้ไทฟอยด์ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
  การตรวจอื่น ๆ ที่อาจพบได้บ้างเช่นผื่นตามตัวที่ชิ่อว่า Rose spot และอาการสับสน พฤติกรรมเปลี่ยนคล้ายกับการติดเชื้อไทฟัสที่กล่าวมาแล้วเรียกว่า muttering delirium และ coma vigil ผมเองก็ไม่เคยเห็น ไปอ่านที่พจนานุกรมศัพท์แพทย์ บรรยายว่าเป็นอาการสับสนที่ชอบดึงผ้าปูที่นอนโดยไร้เหตุผลซ้ำแล้วซ้ำอีก และจินตนาการถึงสิ่งของต่าง ๆ สุดท้ายก็จะอยู่นิ่ง ๆ ไม่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นและสิ่งเร้าใด

  การวินิจฉัยอาศัยอาการ การตรวจร่างกายที่แยกยากจากการติดเชื้อเฉียบพลันอื่น ๆ เพราะอาการไม่เฉพาะเจาะจง การตรวจเลือดก็ไม่เฉพาะเจาะจงนัก ส่วนมากใช้ประวัติเข้าแดนระบาดโรคเป็นสำคัญ การตรวจหาเชื้อที่นิยมและได้ผลดีคือการตรวจหาสารพันธุกรรม (nucleic acid amplification) ของซัลโมเนลล่าในเลือด ในไขกระดูกหรือจากสารคัดหลั่งในลำไส้จากการส่องกล้อง ส่วนการเพาะเชื้อจะขึ้นยาก (แต่ต้องทำเพื่อระบุเชื้อและทดสอบความไวของยา) ส่วนการตรวจภูมิคุ้มกันต่อเชื้อจะมีข้อจำกัดหากอยู่ในแดนระบาดของโรคอย่างในบ้านเรา

โปรดติดตามตอนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น