09 สิงหาคม 2562

ไตเสื่อมและยา NSAIDs

ก่อนนอน

สองสามวันนี้คงได้ยินข่าวหญิงสาวกินยาแก้ปวดแล้วเสียชีวิตเฉียบพลัน ซึ่งผลพิสูจน์ยังไม่รู้ว่าเกิดจากเหตุใด แต่สิ่งที่เกิดจริงและเกิดแน่แท้ ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ลุงหมอพบมาก็ได้

ชายคนหนึ่งอายุ 76 ปี ส่งมาปรึกษาเรื่องตุ่มที่ร่างกาย เป็น ๆ หาย ๆ มาหลายเดือนแล้ว คนไข้ได้รับการรักษามาสักพัก ล่าสุดได้รับการตัดชิ้นเนื้อผลออกมาเป็นเชื้อราที่ผิวหนังชนิดหนึ่งที่จำเป็นต้องได้รับยาระยะยาว จึงส่งมารักษา

ดูไม่ซับซ้อน ประเด็นคือก่อนจะให้ยาต้านเชื้อราคงต้องสอบถามโรคร่วม ยาที่ใช้ และภาวะอื่น ๆ สิ่งที่ได้คือ คนไข้เคยได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งและให้การรักษาโดยยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) โดยรักษาเป็นครั้งคราว ปวดก็ไปหาหมอและได้ยากลุ่มนี้มาตลอด เปลี่ยนชนิดบ้างแต่ก็กลุ่มเดียวกัน บางครั้งก็ซื้อหามากินเองบ้าง

ค่าครีอะตินีน ค่าการทำงานของไต เมื่อห้าปีก่อนคือ 1.6 คนไข้ได้รับการแจ้งว่าไตเสื่อมแต่ยังไม่ต้องฟอกเลือด

หลังจากนั้นไม่ได้มีการตรวจสอบค่าครีอะตีนีนอีกเลย ทั้ง ๆ ที่มีการใช้ยา NSAIDs ตลอด และคนไข้เข้าใจว่าการไม่ฟอกเลือดคือยังไม่อันตราย จึงซื้อยากินเอง เวลาไปซื้อยาก็บอกผู้จำหน่ายว่าไม่มีโรคประจำตัว (เพราะคนไข้ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นโรค)

วันนี้ค่าครีอะตินีนของคนไข้คือ 4.4 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร โปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะบ้าง ค่าความดันโลหิต 150/90 อัลตร้าซาวนด์พบขนาดไตเล็กลงทั้งสองข้าง .. คือไตเสื่อมมากแล้ว

ยา NSAIDs ไม่ได้มีผลข้างเคียงเพียงระคายเคืองกระเพาะ บวม แต่อันตรายอันหนึ่งที่ต้องระวังในผู้ใช้ยาเรื้อรังคือ ไตเสื่อม และหากไตเสื่อมจากเหตุใดก็ควรหลีกเลี่ยงยากลุ่มนี้เช่นกัน การใช้ยาทุกชนิดต้องคิดถึง ข้อบ่งใช้ ข้อห้ามใช้ ข้อควรระวัง การบริหาร ปฏิกิริยาระหว่างยา ระยะเวลาที่ใช้ ราคายา ทั้งหมอ เภสัชกร และ คนไข้

"ก่อนใช้ยาให้คิดละเอียด ถ้าคืนนี้จะเบียด..ให้คิดจะอ่อย"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น