23 พฤษภาคม 2562

อาการเตือนในโรคจุกแน่น

ภาพถ่ายเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ของสุภาพสตรีวัย 70 ปีรายหนึ่ง
สุภาพสตรีท่านนี้ป่วยมีโรคประจำตัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง รักษาสม่ำเสมอดี ปฏิบัติตัวถูกต้อง ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่มีคนใกล้ชิดสูบบุหรี่ ไม่ใช้ยาชุดสเตียรอยด์ ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องจุกแน่นกลางท้อง เป็น ๆ หาย ๆ มาห้าเดือน โดยที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ตรวจร่างกายพบว่า ซีด ไม่มีตับโตม้ามโต คลำต่อมน้ำเหลืองทั้งตัวก็ไม่พบ
ผู้ป่วยได้รับยาลดกรดและปรับการทำงานของลำไส้ อาการไม่ดีขึ้น ยังแน่น ๆ ปวด ๆ กินอาหารไม่ค่อยลง กินเร็ว ๆ แล้วแน่นท้อง สองเดือนมานี้น้ำหนักลดลง และยังซีดเหมือนเดิม
ผู้ป่วยได้รับยาลดกรดต่อเนื่อง และธาตุเหล็กเสริม หลังจากได้รับการวินิจฉัย โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ระดับความเข้มข้นเลือดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ไม่พบเบาหวาน ไทรอยด์เป็นพิษ
...
...
อาการปวดจุกแน่น หรือ dyspepsia หากไม่มีอาการเตือนหรือความเสี่ยงใด ๆ แนะนำให้รักษาด้วยยาลดกรดก่อนครับ แต่หากมีอาการเตือน
- ปวดครั้งแรกในอายุมากกว่า 50 ปี
- มีอาการกลืนติด
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ได้เจตนาและไม่มีสาเหตุอื่นอธิบาย
- มีหลักฐานของเลือดออกในทางเดินอาหารเช่น ถ่ายดำ อาเจียนเป็นเลือด
- อาเจียนไม่หยุด มากกว่า 10 ครั้งต่อวัน
- อิ่มเร็วมาก ๆ
- ไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐาน
- ญาติสายตรงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
ควรรับการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนนะครับ ในรายนี้มีอาการน้ำหนักลดที่สืบค้นแล้วไม่มีเหตุอธิบาย, อายุ 73, อิ่มเร็ว, โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (มาตรวจภายหลังพบหลักฐานเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบน), และไม่ตอบสนองต่อยาลดกรด
ส่องกล้องพบแผลขอบไม่เรียบ มีอาหารคงค้าง ตัดชิ้นเนื้อบางส่วนพบเป็น moderately differentiated adenocarcinoma หรือมะเร็งนั่นเอง ถ่ายภาพพบก้อนเนื้อที่ส่วนปลายกระเพาะและกีดขวางทางเดินอาหาร
** ไม่ได้บอกว่าปวดท้องต้องส่องกล้องทุกราย แต่เมื่อปวดท้องและรักษาแล้วไม่ดีขึ้นจะต้องติดตามอาการต่อเนื่อง โดยเฉพาะหากมีอาการเตือนอย่างที่บอกครับ ***
ในคนไทยอาการปวดท้องมักจะส่องกล้องแล้วปกติได้ 60% - 90% ในแนวทางการรักษาจึงให้รักษาด้วยยาลดกรด proton pump inhibitor 4-8 สัปดาห์ดูก่อน และทดสอบการติดเชื้อ Helicobactor pylori เชื้อสำคัญในการเกิดแผลกระเพาะ โดยการตรวจลมหายใจ ตรวจอุจจาระ หรือจากการส่องกล้อง (เพราะส่องกล้องไม่ได้มีทุกที่ และมีไม่พอปริมาณคนไข้ปวดท้อง และเกือบ 90% ส่องกล้องแล้วปรกติ)
หากไม่ดีขึ้นหรือมีอาการเตือน จึงสืบค้นต่อ น่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์โรคและสภาพสังคมเศรษฐกิจบ้านเราครับ
ปล. arrow sign คือ สัญลักษณ์ที่รังสีแพทย์จะชี้ความผิดปกติจากภาพมาให้ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยครับ สำหรับผมแล้ว sensitivity และ specificity สูงมาก ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น