21 พฤษภาคม 2562

การดื่มน้ำผลไม้มากเกินไปจะเพิ่มอัตราการเสียชีวิต เอาละสิ มันเป็นจริงอย่างไร

ไม่กี่วันมานี้หลายคนได้ยินข่าวทั้งจากข่าวกระแสหลักและทางโซเชียลมีเดียว่า การดื่มน้ำผลไม้มากเกินไปจะเพิ่มอัตราการเสียชีวิต เอาละสิ มันเป็นจริงอย่างไร (ยาวนิดนึงนะครับ แต่อยากชี้ให้เห็นประเด็นว่าเรื่องจริงคืออะไร)
เรื่องการบริโภคพลังงานมากเกินใช้ บริโภคน้ำตาลมากเกินไปแล้วมีผลเสีย อันนี้เป็นที่รู้กัน หลาย ๆ ประเทศ (ไม่ใช่แถวนี้) ออกกฎหมายควบคุมปริมาณน้ำตาลส่วนเกินเรียบร้อย แม้ผลการบังคับในเรื่องการลดอัตราการเกิดโรคและเสียชีวิตจะยังไม่เห็นผลเพราะมันเร็วเกินไปแต่เป็นที่พิสูจน์ชัดเจนว่าต้องทำ แล้วเรื่องเคริ่องดื่มหวาน น้ำอัดลม และน้ำผลไม้ล่ะมีผลไหม
น้ำผลไม้มีความหวานของน้ำตาลฟรุกโตส มีสารอาหาร มีวิตามินและเกลือแร่มากกว่าน้ำหวานน้ำอัดลมอย่างแน่นอน แล้ว "ความหวาน" ของมันมีโทษไหม ในการศึกษานี้ใช้น้ำผลไม้ 100% คือคั้นสดนะครับ ไม่ใช่น้ำผลไม้ผสมน้ำหวานอันนั้นเขาจะรวมเป็นน้ำหวาน และไม่ได้คิดรวมกาแฟเย็น ชานมไข่มุก แต่อย่างใด
ผู้วิจัยใช้ฐานข้อมูลที่เก็บในงานวิจัย RECORDS เพื่อหาความเสี่ยงและลดอันตรายจากความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองที่เก็บต่อเนื่องจากปี 2003-2017 โดยเลือกหยิบเอาข้อมูลคนที่ยังไม่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือสมอง ไม่เป็นเบาหวาน และมีข้อมูลการกินให้วิเคราะห์ครบถ้วน ... จะเห็นว่าผู้วิจัยมีความโน้มเอียงพอสมควรนะครับ เพราะจะวิเคราะห์ข้อมูลได้จะต้องมีข้อมูลการกินครบถ้วนเท่านั้น (ได้ข้อมูลมา 49.5% ของประชากรทั้งหมด)
ข้อมูลการกินมาจากไหน มาจากแบบสอบถามที่ชื่อ Food Frequency Questionnaires ที่จะเก็บข้อมูลตอนเริ่มการศึกษา เป็นแบบสอบถามที่ละเอียดมาก ชนิดอาหารและสารอาหารเกือบ 110 ชนิด แต่นี่คือจุดที่ต้องคิดเช่นกัน ... จำได้หมดหรือ และเวลาเปลี่ยนไปนับห้าปีสิบปี การกินจะเปลี่ยนไปอย่างไร หรือในช่วงที่ไม่ได้เก็บข้อมูลกินแบบนี้จริงหรือไม่
ข้อมูลที่ได้นำมาหาเป้าหมายสำคัญถึงความสัมพันธ์การกินน้ำหวานน้ำผลไม้และอัตราการเสียชีวิตโดยรวมและอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ .. ด้วยความที่ความสัมพันธ์มันไม่เป็นเหตุและผลกันหนึ่งต่อหนึ่งโดยตรง มีตัวกวนอีกหลายตัวที่อาจมีผล เพราะนี่คือการเฝ้าติดตาม ไม่ใช่การทดลองที่ควบคุมปัจจัยต่าง ๆ เคร่งครัด สิ่งที่ได้คือ ความสัมพันธ์กันเท่านั้น ไม่ใช่เหตุผล ถ้าการศึกษานี้ออกมาว่ามีความสัมพันธ์ก็ต้องแปลแค่นั้น จะแปลกลับกันว่าโรคหัวใจหรืออัตราการตายจะเกิดจากการดื่มน้ำหวานน้ำผลไม้ไม่ได้ และไม่ได้หมายถึงเราไม่ดื่มน้ำหวานน้ำผลไม้แล้วจะไม่เป็นโรคด้วย
สิ่งที่พบคือวิเคราะห์คนกว่า 13,500 ราย แน่นอนเป็นคนผิวขาวเกือบ 70% เพราะทำในอเมริกา (ถ้าไปดูก็คัดเลือกทำในอเมริกาโซนที่มีอัมพาตสูงด้วย ไม่ใช่อเมริกาทั้งหมด และคิดว่าคงไม่ได้รวมอีตาทรัมเป็ตแน่นอน) เป็นคนอ้วนเสีย 70% แม้คนส่วนมากผิวขาวแต่กลับเป็นกลุ่มคนผิวสีที่ดื่มน้ำตาลปริมาณสูง (10% ของพลังงานในแต่ละวัน) ค่าเฉลี่ยการดื่มน้ำหวานน้ำผลไม้คือ 8.4% ของพลังงานที่ควรได้รับ ...ถึงตรงนี้จะเเห็นว่ามีปัจจัยมารบกวนผลมากมาย เพราะคุมไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เลือกมากับมือยังคุมไม่ได้เลย จึงต้องมีการคิดโมเดลทางคณิตศาสตร์ เปรียบเทียบความแตกต่างให้พอเทียบกันได้ เช่น อายุ เพศ ระดับการศึกษา ฐานะ พลังงานที่กิน เรียกว่ามีการใช้โมเดลมาปรับถึง 4 รอบ แน่นอนปรับมากเท่าไร ค่ายิ่งมีโอกาสผิดพลาดมากขึ้น
สิ่งที่พบคือ ถ้าไม่ปรับตัวแปรใด ๆ เลย คนที่กินน้ำหวานน้ำผลไม้มากกว่า 10% ของพลังงานที่ควรได้รับในแต่ละวัน เมื่อเทียบกับคนที่กินน้อย คือน้อยกว่า 5% ของพลังงานที่ควรได้รับในแต่ละวัน จะมีอัตราการเสียชีวิตโดยรวมเมื่อติดตามประมาณ 10 ปี มากกว่ากลุ่มที่กินน้อยประมาณ 31% และหากมาคิดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจจะมากกว่ากลุ่มที่กินน้อยถึงเท่าตัวคือ 120% และแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งคู่ ... ไหนว่าตัวแปรปรวนเยอะไง ถ้าปรับพวกอายุ เพศ พลังงานที่กิน น้ำหนักตัว แล้วมาเทียบกันจะยังต่างกันอยู่ไหม
ถ้าปรับตัวแปรแล้วพบว่ากลุ่มที่กินมากกว่าก็ยังมีอัตราการเสียชีวิตโดยรวมและจากโรคหัวใจสูงกว่าอยู่ดี 20%-40% **แต่ว่าคราวนี้ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติแล้ว** ยกเว้น การดื่มน้ำผลไม้ 100% ในขนาดที่มากกว่า 12 ออนซ์ต่อวัน (360 ซีซี) พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น 24% และมีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุปว่า การดื่มน้ำหวานน้ำอัดลมรวมทั้งน้ำผลไม้ 100% ที่มากกว่าปกติคือมากกว่า 10% ของพลังงานที่ควรได้รับต่อวัน พบว่ามีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นทั้งอัตราการเสียชีวิตโดยรวมและอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ (ผมไม่ใช้คำว่ากินหวานมากจะเพิ่มอัตราตาย หรือ กินหวานเป็นสาเหตุเกิดอัตราตายนะครับ เพราะยังต้องพิสูจน์ต่อไปก่อนจะอ้างแบบนั้นได้) เป็นเพียงความสัมพันธ์ที่พบ ยังต้องอาศัยข้อมูลอื่นอีกมาก ให้น้ำหนักระดับปานกลางเท่านั้นเพราะมีข้อสังเกตและจุดอ่อนจากการศึกษาอีกพอสมควร
ให้น้ำหนักกับน้ำตาลและความหวานที่ส่งผลต่อพลังงานรวมและความอ้วน ความผิดปกติของอินซูลิน มากกว่าที่มาว่า "หวาน" จากอะไร
แล้วเรื่องนี้สอนเราอย่างไร ... การกินหวานมากเกินไป ไม่ดีแน่ ๆ เราไม่ควรกิน Added Sugar เพราะทำให้อ้วนและเป็นโรคมากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงครับ
ที่มาวารสาร (ฟรี)
Collin LJ, Judd S, Safford M, Vaccarino V, Welsh JA. Association of Sugary Beverage Consumption With Mortality Risk in US Adults: A Secondary Analysis of Data From the REGARDS Study. JAMA Netw Open. 2019;2(5):e193121. doi:10.1001/jamanetworkopen.2019.3121

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น