18 พฤษภาคม 2562

เจาะเลือดปลายนิ้วใช้แทนเจาะเลือดจากข้อพับได้ไหม

เจาะเลือดปลายนิ้วใช้แทนเจาะเลือดจากข้อพับได้ไหม

คำถามที่หลายคนสงสัยเพราะเจาะเลือดปลายนิ้วสะดวกดี ไม่เจ็บมาก บางคนหาหลอดเลือดยากไปเจาะเลือดแต่ละทีช้ำฟกกลับบ้านไปก็มี ก่อนจะบอกว่าได้ไหม เรามาเข้าใจกายวิภาคหลอดเลือดเล็กกันก่อน

เลือดออกจากหัวใจจะผ่านออกมาทางหลอดเลือดแดง หลอดเลือดที่ต่อกับหัวใจจะมีขนาดใหญ่และจะเล็กลงเรื่อย ๆ หลอดเลือดแดงมักจะซ่อนตัวในชั้นลึก มีกระดูกและกล้ามเนื้อคอยป้องกัน การเจาะหลอดเลือดแดงไปตรวจทำได้ไม่ง่ายนัก และมักจะทำในส่วนของหลอดเลือดที่เดินทางมาใกล้ ๆ ผิวหนังเช่น ตำแหน่งหลอดเลือดแดงเรเดียลที่ข้อมือที่เราใช้แมะชีพจร ตำแหน่งหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบ  การตรวจเลือดจากหลอดเลือดแดงที่ทำกันบ่อยคือ การวิเคราะห์แก๊สในเลือดและความเป็นกรดด่างของเลือด

หลังจากที่หลอดเลือดแดงมาจนสุดปลาย หลอดเลือดแดงที่เล็กที่สุดเรียกว่า arteriole หลอดเลือดนี้จะมีกล้ามเนื้อหลอดเลือดหนามากหากเทียบกับขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง และเป็นตัวควบคุมความดันโลหิตที่สำคัญ เมื่อสุดปลาย (ห้ามเรียกสุดโคน) หลอดเลือดจะแตกย่อยออกเป็นหลอดเลือดฝอย (capillaries) ผนังบางสามารถแลกเปลี่ยนสารต่าง ๆ และแก๊ส ระหว่าหลอดเลือดและเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย เวลาเราถูกมีดบาดก็เลือดออกจากตำแหน่งนี้ เวลาแผลถลอกก็ออกตำแหน่งนี้ เช่นเดียวกันเวลาเจาะเลือดปลายนิ้วก้ได้เลือดจากหลอดเลือดฝอยนี่เอง

หลังจากนั้นหลอดเลือดฝอยจะมารวมตัวกันอีกครั้งเป็นหลอดเลือดดำ หลอดเลือดดำขนาดเล็กที่สุดคือ venule และมารวมตัวกันเป็นหลอดเลือดที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และใหญ่ที่สุดเมื่อจะเข้าสู่หัวใจ เวลาเราเจาะเลือดดำไปตรวจที่คุณหมอคุณพยาบาลเจาะเลือดที่ข้อพับ ก็มาจากหลอดเลือดดำตรงนี้  เลือดในหลอดเลือดดำจะมีสารต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนหลอดเลือดฝอยคือสารที่เซลล์ต้องการจะลดลง สารที่เซลล์ไม่ต้องการจะเพิ่มขึ้น เตรียมไปฟอกเลือดที่ปอดและที่ไต

เวลาที่เราเจาะเลือดหาสารใด จะมีกรรมวิธีที่ระบุชัดว่าต้องการเลือดจากหลอดเลือดใด เพราะแต่ละตำแหน่งค่ามาตรฐานและค่าเฉลี่ยของสารต่าง ๆ จะไม่เท่ากัน ไม่สามารถใช้เลือดแดงแทนเลือดฝอยแทนเลือดดำได้ เว้นแต่มีการตรวจบางอย่างที่ต้องระบุมาแล้ว ทดสอบมาแล้ว ว่าสามารถใช้แทนกันได้ เช่นการตรวจหาแลคเตตจากหลอดเลือดแดงหรือหลอดเลือดดำก็ใช้ได้เช่นกัน

การเจาะตรวจปลายนิ้วปัจจุบันใช้ในไม่กี่กรณี เช่น การตรวจที่เรียกว่า point-of-care เจาะเลือดหนึ่งหยดจากปลายนิ้ว หยดลงแถบตรวจแล้วอ่านค่า เช่นน้ำตาลปลายนิ้ว การตรวจการแข็งตัว INR การตรวจเอนไซม์กล้ามเนื้อหัวใจ การใช้เลือดปลายนิ้วจะใช้เวลาไม่นาน สามารถ"ช่วย" วินิจัยได้เร็ว แต่จะต้องผ่านการทดสอบและประเมินก่อนว่าใช้ได้เมื่อเทียบกับมาตรฐานที่เจาะจากหลอดเลือดดำ

การเจาะเลือดหลายชนิดในทารกแรกเกิด เราพัฒนาให้ใช้เลือดปลายนิ้ว...จริง ๆ คือปลายส้นเท้า ทดแทนการเจาะเลือดจากหลอดเลือดดำได้

หากไม่ได้กำหนดว่าแทนกันได้ ทำแทนทุกเรื่องไม่ได้นะครับ เช่น การวินิจฉัยเบาหวานจะต้องใช้การเจาะเลือดจากหลอดเลือดดำ ค่าที่อ้างอิงก็มาจากการตรวจจากหลอดเลือดดำ หากจะใช้ผลเลือดปลายนิ้วมาวินิจฉัยอันนี้ยอมไม่ได้ แต่การติดตามผลหลังรักษาอาจใช้ผลเจาะเลือดปลายนิ้วได้ครับ

สรุป...หากการตรวจกำหนดว่าต้องใช้เลือดจากตำแหน่งใดให้ใช้ตำแหน่งนั้น 

"คนที่ไม่ใช่แฟน ทำแทนทุกเรื่องไม่ได้"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น