13 เมษายน 2562

การวินิจฉัยมะเร็งตับชนิด Hepatocellular carcinoma

การวินิจฉัยมะเร็งตับชนิด Hepatocellular carcinoma
มะเร็งตับมีหลายชนิดเช่น cholangiocarcinoma เกิดในส่วนท่อน้ำดี ที่สัมพันธ์กับพยาธิใบไม้ตับหรือ metastatic cancer เกิดจากการแพร่กระจายมาจากที่อื่น แต่ที่จะบอกวันนี้คือ hepatocellular carcinoma มะเร็งอันเกิดจากเซลล์ตับเอง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมากคือการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีและชนิดซี
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งตับหลัก ๆ มีสองลักษณะคือ
การเฝ้าระวัง..ทำในผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็ง เฝ้าระวังการเกิดโดยการทำอัลตร้าซาวนด์ตับทุกหกเดือน (บางแนวทางก็ให้ทุกปี) โดยอาจจะร่วมกับการเจาะตรวจสาร Alpha Fetoprotein (AFP) ร่วมด้วยก็ได้ เพราะเจ้าสารนี้ไม่ได้เฉพาะกับมะเร็งตับเท่านั้น หากขึ้นสูงอย่างเดียวโดยไม่มีอาการหรือความเสี่ยงและการตรวจอื่น ๆ ไม่สนับสนุนก็ยากที่จะฟันธงว่าเป็นมะเร็งตับ
** ดังนั้นในคนปรกติก็ไม่มีข้อที่จะให้ไปเจาะตรวจ AFP เพื่อการคัดกรองและวินิจฉัยมะเร็งตับแต่อย่างใด **
การวินิจฉัย...เมื่อเจอก้อนจากการเฝ้าระวัง หรือมีอาการ อาการแสดง ความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งแล้วมาตรวจ การวินิจฉัยต้องใช้การถ่ายภาพรังสีที่มีการฉีดสี ไม่ว่าจะเป็น CT หรือ MRI อันใดก็ได้ ในบางแห่งมีการใช้ อัลตร้าซาวนด์ด้วย (contrast-enhanced)
มะเร็งตับจะมีรูปแบบภาพที่ฉีดสีต่างจากก้อนอื่น ๆ คุณหมอรังสีจะรายงานมาเป็น LI-RADS คือระบบรายงานคะแนนภาพรังสีตับบอกโอกาสความเป็นมะเร็งจากภาพ
เล่าคร่าว ๆ เซลล์ปกติหรือก้อนเนื้อที่ไม่ใช่มะเร็งในตับ จะได้รับเลือดจากหลอดเลือดดำที่ชื่อ portal vein แต่เซลล์ก้อนมะเร็งมันจะเปลี่ยนการใช้หลอดเลือด มาเป็นใช้หลอดเลือดแดง hepatic artery แทน รูปแบบการกระจายสารทึบรังสีของเลือดแดงและเลือดดำในก้อน จะบอกลักษณะของก้อนได้ว่าเป็นเนื้องอกแบบใด
ในกรณีที่ไม่ชัดเจน ก็ให้ใช้การถ่ายภาพอีกวิธีที่ต่างจากตอนแรก (การทดสอบทุกอย่างมีข้อจำกัดในแต่ละคน) และหากยังไม่ชัดเจนอีก ก็ให้เจาะชิ้นเนื้อมาตรวจ แต่หากไม่ชัดเจนแต่ดูไม่เหมือนมะเร็ง ก้อนเล็กมาก อาจเลือกติดตามทุกหกเดือนก็ได้
เราจึงไม่ได้เจาะตรวจชิ้นเนื้อตับเพื่อการวินิจฉัยมะเร็งมากนัก อันนี้จะต่างจากมะเร็งอันอื่นที่จำเป็นต้องได้ชิ้นเนื้อมาตรวจ และย้อมสีเพื่อดูชนิดและตัวรับยาเพื่อเลือกยาให้ถูกต้อง
แต่การใช้ภาพถ่ายรังสีเพื่อวินิจฉัยมะเร็งตับนี้จะใช้ได้เมื่อผู้ป่วยมีภาวะตับแข็งเท่านั้น ในกรณีไม่ใช่ผู้ป่วยตับแข็งแต่มีก้อนจะต้องใช้วิธีอื่นหรือการเจาะตรวจชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัยเสมอครับ
จะสังเกตว่าไม่มีการ "คัดกรอง" มะเร็งตับในคนปรกติทั่วไปนะครับ ใช้คำว่าการ "เฝ้าระวัง" ในคนที่เสี่ยงเท่านั้น
จาก NEJM review ฉบับวันพฤหัสที่ 11 เมษายน และ AASLD guidelines 2018

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น