26 เมษายน 2562

ลักยิ้ม แก้มบุ๋ม หรือ cheek dimple

ลักยิ้ม แก้มบุ๋ม หรือ cheek dimple คืออะไรและทำไมจึงเห็นเฉพาะตอนยิ้ม
กล้ามเนื้อใบหน้าของมนุษย์ มีหน้าที่ช่วยในการพูด การเคี้ยว การแสดงความรู้สึก หน้าที่หลักคือแสดงความรู้สึก เราจึงเรียกชื่อเพราะ ๆ ว่า muscle of facial expression ควบคุมโดยเส้นประสาทสมองคู่ที่เจ็ด ชื่อ facial nerve เวลาที่เส้นประสาทสมองคู่ที่เจ็ดอักเสบจึงมีอาการหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยวและปิดตาไม่ได้ที่เรียกว่า Bell's pulsy
กล้ามเนื้อใบหน้าเป็นกล้ามเนื้อบาง ๆ อยู่ใต้ผิวหนังแทรกตัวอยู่กับไขมันใต้ผิวหนัง อยู่ตื้นมาก เกาะตัวกับกระดูกใบหน้าและใยพังผืดต่าง ๆ มีกล้ามเนื้อมัดหนึ่งชื่อว่า zygomaticus major วางตัวแนวเฉียงตั้งแต่กระดูกโหนกแก้มทแยงลงมาที่มุมปาก เวลาทำงานก็ดึงมุมปากเข้าหาโหนกแก้ม นั่นคือการยิ้มนั่นเอง พวกเสือยิ้มยากสงสัยจะไม่มีกล้ามเนื้อมัดนี้
สำหรับคนบางคน กล้ามเนื้อมัดนี้จากที่เป็นมัดเดียวท่อนเดียว เกิดแยกออกเป็นสองส่วนเรียกว่า bifid zygomaticus major มันมีรอยแยกตรงกลาง พอเวลากล้ามเนื้อทำงานคือยิ้ม กล้ามเนื้อที่แยกกันจะเกร็งทั้งคู่ พื้นที่ช่องว่างตรงกลางจึงเห็นเป็นรอยบุ๋ม เรียกว่า cheek dimple หรือลักยิ้มนั่นเอง
ลักยิ้มจะแตกต่างกันตามลักษณะรอยแยก ไม่ว่าจะเป็นร่องยาวหรือแค่รอยบุ๋ม บางคนก็หายไปเมื่อโตขึ้น บางคนมีสองข้างบางคนก็มีข้างเดียว ความผันแปรของกล้ามเนื้อนี้ไม่ได้มีผลต่อความผิดปกติในการใช้งานกล้ามเนื้อแต่อย่างใด
เอาลักยิ้มมาให้ดูก่อนนอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น