29 เมษายน 2562

จากห้องบรรยายสู่ประชาชน : หลอดเลือดสมองตีบ อัมพาต

จากห้องบรรยายสู่ประชาชน : หลอดเลือดสมองตีบ อัมพาต จากการบรรยายของ อ.พรภัทร ธรรมสโรช
1. นับย้อนหลังไปประมาณ 10 ปี การรักษาอัมพาตเฉียบพลันมีการพัฒนาที่สำคัญมากคือการให้ยาสลายลิ่มเลือด fibrinolysis ตัวที่สำคัญคือ alteplase ให้ทางหลอดเลือดดำในระยะเวลาที่เร็วพอคือภายในสามชั่วโมงหลังเกิดเหตุ หรือภายในสี่ชั่วโมงครึ่งหากมีเงื่อนไขเหมาะสมพอ การรักษานี้ทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลงก็จริง ซึ่งไม่ได้มากนัก แต่สิ่งที่ช่วยได้มากคือ ไม่ต้องพิการจนช่วยตัวเองไม่ได้หรือจนเกิดผลแทรกซ้อน
2. หลังจากมีการรักษาแบบนี้ได้พัฒนาการรักษาที่เรียกว่า fast tract คือต้องเร็วมากจึงจะช่วยได้ทัน ปัญหาสำคัญของเราคือเรามาถึงโรงพยาบาลที่สามารถรักษาได้ช้าไป แม้ว่าจะมีการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร การปรึกษาที่รวดเร็ว ก็ยังถือว่าช้าและเสียโอกาสที่จะช่วยได้ไปมากมาย
3. แนวทางหรือการรักษาใหม่ ๆ ออกมาเพื่อลดข้อจำกัดตรงนี้ เช่นแนวทางเดิมจะให้เมื่อความรุนแรงของโรคพอสมควร แนวทางใหม่ ๆ จะให้มากขึ้นเริ่มลดระดับความสำคัญของ "ความรุนแรง" ว่าไม่ต้องรุนแรงมากเหมือนเดิม เพิ่มโอกาสให้คนไข้มากขึ้น หรือเดิมในกรณีพื้นที่สมองที่เสียหายมากอาจจะไม่ให้ยา แต่ปัจจุบันมีการคิดคะแนนให้ละเอียดขึ้นเพิ่อสรรหาคนกลุ่มนี้มาให้ยาเพิ่ม (aspect score)
4. การใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเฟ้นหาคนที่จะมีโอกาสรักษาไม่ว่าจะเป็นการเอ็กซเรย์ดูหลอดเลือดแดงสมอง การทำ MRI ในแบบต่าง ๆ เพื่อค้นหาว่ามีใครบ้างยังมีประโยชน์ในการให้ยาตามข้อหนึ่ง แม้ว่าเวลาหรือเกณฑ์อาจก้ำกึ่ง
5. การรักษาใหม่ ๆ ที่ลดข้อจำกัดด้านเวลา เช่นการให้ยาทางหลอดเลือดแดงที่ต้องใส่สายสวน หรือการใส่สายสวนเข้าไป "หยิบ" เอาลิ่มเลือดอุดตันออกมา ที่จะขยายเวลาในการรักษาไปถึง 6-12 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ ลดความพิการลงได้มากขึ้นไปอีก หรือหากคนไข้เสี่ยงเกิดอันตรายจากการใช้ยาทางหลอดดลือดดำสูงมาก ก็จะเปลี่ยนวิธีการรักษา ไม่ได้นั่งรอและภาวนาอีกต่อไป
**6.แต่ความก้าวหน้าในข้อ 5 และ 4 ไม่ได้มีทุกที่ อาจจะทำได้ไม่กี่ที่ในไทย การส่งต่อคนไข้ยังต้องใช้เวลาและงบประมาณมากมาย เป็นสิ่งที่เราทราบแต่ยังไม่สามารถปรับใช้ได้ด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากรของประเทศเรา จึงต้องย้อนกลับไปข้อ 2 และการป้องกันอยู่ดี
7. ความสำคัญที่สุดของการรักษาหลอดเลือดสมองตีบสำหรับพวกเรามีสองข้อ หนึ่งคือรู้ให้เร็ว อาการแขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัดทันที เดินเซทันที (sudden onset) ควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด ถึงสุดท้ายมันไม่ใช่หลอดเลือดสมองตีบหรือจะมีข้อห้ามการให้ยาก็ตาม เราจะได้ไม่เสียโอกาสแห่ง "เวลา" นั้น
8. ประการที่สองต่อจากข้อ 7 คือ ป้องกันให้ดี โรคหลอดเลือดสมองตีบนั้นมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ปรับได้ และเมื่อปรับแล้วโอกาสเกิดโรคลดลงมากเสียด้วย ได้แก่ การควบคุมความดันโลหิตได้ตามกำหนด การลดไขมันและการใช้ยาลดไขมันเมื่อมีข้อบ่งชี้ การกินยาต้านการแข็งตัวของเลือดหากเป็นโรคหัวใจเต้นพริ้ว (atrial fibrillation) ที่เสี่ยงพอจะต้องกินยา
9.ประเด็นหลังจากมาถึงโรงพยาบาลในข้อ 7 ทีมสาธารณสุขจะมีการประเมิน ให้ยา ส่งต่อ ดูแลหลังรักษา เรื่องพวกนี้มีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนอยู่แล้ว แค่บริหารให้มันใช้ได้จริงและมีประสิทธิภาพ อย่าลืมอัพเดตความรู้ของทีมด้วย และสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่ดูแล
10. หลอดเลือดในสมองตีบเป็นปัญหาสาธารณสุขลำดับสองของประเทศ แต่ว่านำพามาซึ่งภาวะพึ่งพาที่สิ้นเปลืองงบประมาณและทรัพยากรของชาติ ของคน ของครอบครัวมากมาย เราจะลดปัญหานี้ได้เราต้องเข้าใจ เข้าถึง และเข้าร่วมครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น