17 เมษายน 2562

คำเตือน .. การตรวจยีนแพ้ยา ไม่ใช่เดินไปตรวจแล้วจะทราบว่าเราแพ้ยาอะไร

คำเตือน .. การตรวจยีนแพ้ยา ไม่ใช่เดินไปตรวจแล้วจะทราบว่าเราแพ้ยาอะไร
เมื่อวันก่อนลงเรื่องการตรวจยีนแพ้ยาที่เรียกว่า pharmacogenetic test มีคนถามและแชร์โดยเข้าใจว่า เดินไปเจาะเลือดตรวจแล้วเราจะทราบว่าเราแพ้ยาหรือไม่ แพ้ยาอะไร ..ตรงนี้อาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนนะครับ มาฟังใหม่ให้เคลียร์
การตรวจแบบนี้เป็นลักษณะที่เรียกว่า precision medicine คือมีความเฉพาะและตรงจุดมาก (ไม่ได้บอกว่าถูกต้องนะ เพราะถูกต้องคือ accuracy) แต่ก่อนเราไม่เคยรู้ว่าใครจะแพ้ยาอะไร ต้องใช้การติดตามทุกราย
แต่ตอนนี้เราพบความสัมพันธ์ระหว่างยีนบางชนิดกับการแพ้ยาบางตัว (สังเกตว่าไม่ใช่ยีนทุกชนิดและยาทุกตัว) ว่ามีความสัมพันธ์กันสูงมาก และหากนำคนที่แพ้ยามาตรวจก็มักจะพบว่ามียีนนี้ ในขณะที่นำคนไม่แพ้ยาก็พบว่าไม่ค่อยมียีนนี้ ถึงจะไม่ร้อยเปอร์เซนต์ แต่ก็จำเพาะสูงมากระดับเกิน 90-95% จนเราสามารถทำนายกลับกันว่า หากมียีนตัวนี้ก็ไม่ควรให้ยานี้
เพราะมันจำเพาะมากกับคู่ของมัน จึงไม่สามารถคิดว่า ไปเจาะเลือดแล้วจะรู้ว่าแพ้ตัวใด เราต้องคิดว่าคนไข้จะต้องใช้ยาใด ยานั้นสามารถระบุความเสี่ยงการแพ้ยาทางพันธุศาสตร์หรือไม่ ถ้าหากทำได้และแม่นยำมาก จะเลือกทำในคน ๆ นั้นและทดสอบสำหรับยาตัวนั้น หนึ่งต่อหนึ่งเท่านั้น ถึงเรียก precision ไง
จึงมีแค่ยาไม่กี่ชนิดตอนนี้ที่ทำได้ และการที่จะออกมาเป็นมาตรการการตรวจโดยทั่วไปต้องพิจารณาด้วยว่า การแพ้ยานั้นมันรุนแรงมากพอที่จะตรวจหรือไม่ หากการแพ้ยาก็แค่คัน ๆ ยิบ ๆ อาจไม่ต้องตรวจเพราะมันคงไม่จำเป็นต้องหยุด แต่ถ้ายาบางตัวแพ้แล้วมีอาการรุนแรงมาก การตรวจก่อนให้ยาอาจช่วยลดผลเสียนั้นได้
และต้องมีมาตรการต่อไปด้วยว่าหากแพ้ยาแล้วจะทำอย่างไร ไม่อย่างนั้นตรวจไปก็ไม่เกิดประโยชน์ครับ
ยกตัวอย่าง allopurinol ที่ใช้มากมายและราคาไม่แพง พบว่าในคนไทยแพ้ยามากกว่าฝรั่ง และคนไทยมีความถี่ยีน HLA B*58-01 สูงกว่าฝรั่งมากหลายร้อยเท่า และหากใครพบว่ามีความผิดปกติยีนนี้จะเพิ่มโอกาสการแพ้ยามากกว่าคนที่ไม่มีหลายร้อยเท่าอีกด้วย ที่สำคัญการตรวจนี้จะเฉพาะกับการแพ้แบบรุนแรง ตาบอด ผิวหนังลอก ที่อัตราตายสูง หากพบว่าแพ้ยาก็อาจเลือกใช้ยาตัวอื่นได้ไง การตรวจจึงมีค่ามาก
ไม่ใช่ว่าเดินไปตรวจแล้วจะรู้เลยว่าเราแพ้ยาหรือไม่และแพ้ยาอะไรครับ ต้องระบุให้ชัดเจนทั้งคนและยาครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น