อ่านเล่นก่อนนอน : ภาวะหัวใจวาย (Heart Failure)
หัวใจวาย เป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถทำงานตอบสนองความต้องการของร่างกายได้ ไม่ได้หมายถึงตายแต่หมายถึงการทำงานที่ลดลง ลดลงจนไม่เพียงพอ คนเราสามารถมีภาวะหัวใจวายได้หลังจากเกิดเหตุปัจจัยใด ๆ ที่มาทำอันตรายต่อหัวใจ ที่พบบ่อยคือ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากหลอดเลือดตีบตัน ส่วนสาเหตุอื่น ๆ พบได้อีกเช่น การดื่มเหล้าเรื้อรัง หัวใจเต้นผิดจังหวะเรื้อรัง การใช้ยาเคมีบำบัดบางชนิด โรคที่มีสารไปสะสมที่กล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจผิดปกติ เรียกว่ามีมากมายเลย และสุดท้ายปลายทางคือ การทำงานที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ
การดูแลรักษาหัวใจวาย ต้องทำแบบองค์รวมเฉกเช่นเดียวกับอวัยวะใดก็ตามในร่างกายล้มเหลว เพราะเมื่ออวัยวะอันหนึ่งสูญเสียหน้าที่ไป จะต้องมีการชดเชยและปรับตัวของอวัยวะหลายอย่างเพื่อมาพยุงร่างกาย ผู้ป่วยหลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องรักษาระบบนั้น ดูแลระบบนี้ วัดค่าระบบโน้นด้วย ทำไมต้องเข้าคลินิกเฉพาะโรค เรามาดูตัวอย่างจากหัวใจวายนี่แหละครับ
เมื่อหัวใจทำงานบกพร่องไป ร่างกายก็ต้องปรับตัวชดเชย แต่การปรับตัวไม่ได้มีแต่ข้อดี ยังมีข้อเสียอีกด้วย เราจึงต้องควบคุมไม่ให้การปรับตัวทำจนเกินเลยไป อย่างเช่นหัวใจวาย การปรับตัวของร่างกายจะให้ระบบประสาทและฮอร์โมน รวมทั้งการปรับตัวที่ไต เราจึงต้องดูแลและให้ยาควบคุม
ระบบประสาทอัตโนมัติจะส่งกระแสประสาทมาเร่งการทำงานของหัวใจ เพื่อเพิ่มการบีบตัวและชีพจร เลือดจะได้ไปเลี้ยงส่วนอื่น ๆ ได้ดี ... แต่หัวใจมันเสื่อมลงแล้วไงครับ การไปกระตุ้นบีบคั้นมาก ๆ มันก็อาจจะล้มเหลวไปเลยได้ เราจึงต้องให้ยาควบคุมกระแสประสาท ลดการกระตุ้นมันเสีย ยาที่ใช้คือยาต้านการกระตุ้นตัวรับประสาทอัตโนมัติชนิดเบต้า (beta adrenergic receptor blocker : beta blocker) ยาที่ใช้ได้แก่ bisoprolol, carvedilol, metoprolol succinate
ระบบฮอร์โมนทำงานเพื่อคงสภาพร่างกายเอาไว้ โดยผ่านทางฮอร์โมนสองระบบ คือ renin-angiotensin-aldosterone และ netripeptides เอาเป็นว่าไม่ต้องสนใจชื่อมันก็ได้ เมื่อหัวใจวาย ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนระบบนี้ออกมาเพิ่มเพื่อชดเชยการทำงาน แต่การทำงานของฮอร์โมนสองระบบนี้จะทำให้หัวใจและไตแย่ลงได้ในอนาคต จะมีการดูดกลับเกลือมากมายที่ท่อไต หลอดเลือดถูกบีบ เราจึงต้องลดการทำงานของมันด้วยยาที่ไปลดการทำงานของระบบฮอร์โมนนี้ รวมทั้งดูแลการทำงานของไตให้ดีด้วย (ฮอร์โมนมันไปออกฤทธิ์และทำงานมาก ๆ ที่ท่อไต) ได้แก่ยาตระกูล -ipril, -sartan, sacubitril/valsartan, spironolactone
แล้วไปลดการทำงานของระบบชดเชย ร่างกายก็แย่สิ หัวใจก็แย่แล้ว ยังไปปลดตัวมาช่วยมาชดเชยอีก ... เราก็ต้องทำวิธีอื่นด้วยร่วมกันไงครับ เช่นลดการบริโภคเกลือ อาหารเค็ม ควบคุมปริมาณน้ำ เพื่อให้สมดุลกับฮอร์โมนที่เราไปลดมัน หรือไปแก้ไขที่ต้นทางด้วย คือ ที่หัวใจ เช่นการใส่สายสวนขยายหลอดเลือดหัวใจ การใส่อุปกรณ์กระตุ้นหัวใจให้บีบตัวพร้อมกันอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้อุปกรณ์ไปช่วยการบีบตัวหัวใจ
การดูแลต้องปรับยา ปรับอาหาร ปรับชีวิต ตลอดช่วงเวลาการรักษาเพราะโรคจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ยังไม่นับโรคร่วมอื่นเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตเสื่อม ไขมันในเลือด ที่จะต้องปรับเปลี่ยนการรักษาไปด้วยกัน พร้อม ๆ กันให้กลมกล่อมพอดีและไม่ให้การรักษาเกิดผลต่อต้านกัน ผู้ป่วยบางคนต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์หลายท่าน หลายจุดบริการ หรือบางที่รวมจุดบริการเป็น one stop service
นี่คือตัวอย่างการดูแลรักษาโรคเรื้อรังแบบองค์รวม เพื่อส่งผลให้คนไข้ได้รับประโยชน์สูงสุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น