28 กุมภาพันธ์ 2562

คนสูงวัย ไม่ใช่แค่อายุมาก !! : Beers Criteria 2019

คนสูงวัย ไม่ใช่แค่อายุมาก !! : Beers Criteria 2019
ออกตรวจ OPD ครับ แล้วพบผู้สูงอายุส่งมาตรวจเพราะซึม ๆ มึน ๆ ปากแห้ง ใจสั่น ผู้ป่วยรายนี้รักษาประจำที่นึง ไปตรวจด้วยอาการหวัดที่นึง ไปตรวจเพราะมึนงงอีกที่นึง สามที่ในหนึ่งสัปดาห์ ผมนั่งตรวจรายการยา นี่คือความจริง !!
diphenhydramine, cetirizine, ยาลดน้ำมูกที่มีส่วนผสม chlorpheniramine, diazepam และยาจิตเวช ที่มาจากแต่ละที่ไม่ซ้ำกัน ผู้ป่วยกินยาทุกที่ ทุกชนิด
ยาทั้งหมดนี้มีผลอันหนึ่งที่เรียกว่า anticholinergic effect ทำให้ปัสสาวะลำบาก ปากแห้ง ใจสั่น ตาลายและอาจวูบเวลาลุกยืน ยิ่งมีหลายตัวยิ่งทำให้ผลข้างเคียงนี้มากขึ้นหลายเท่า ถึงชื่อยาไม่เหมือนกัน คนละกลุ่มกัน แต่กลับมีผลข้างเคียงซ้ำซ้อนกัน
การใช้ยาในผู้สูงวัย มันมีข้อที่ต้องคิดหลายอย่างทั้งทบทวนยาที่มี วางแผนยาที่จะใช้ และคาดเดาเหตุการณ์ข้างหน้า สามารถอ่านได้จาก Beers Criteria อันเก่าที่ผมเขียนไว้ และสามารถดาวน์โหลด Beers Criteria เวอร์ชั่นใหม่ อันใหม่ได้จากลิ้งก์ด้านล่างครับ
ผมลองยกตัวอย่างวิธีคิดเวลาจะให้ยาผู้สูงวัยนะครับ
1. ผู้สูงวัยจะมีการจัดการยาที่ผิดจากปรกติ เช่นการทำงานของตับลดลง การทำงานของไตลดลง การกระจายยาไปตามปริมาตรสารน้ำในตัวลดลง ทำให้ยาอาจจะมีประโยชน์ที่คาดหวังน้อยลง แต่พิษมากขึ้น นานขึ้น
2. ผู้สูงวัยจะมีโรคมากมายที่ต้องใช้ยา ยาเหล่านี้ที่จำเป็นก็อาจมีปฏิกิริยาต่อกันอยู่แล้ว หรืออาจทำให้ร่างกายมีผลต่อยาตัวใหม่ลดลง ดังนั้นการจะใส่ยาตัวใหม่เข้าไป ให้ดูยาตัวอื่นด้วย เช่นผู้ป่วยที่กินยากันเลือดแข็ง warfarin ที่จะต้องใช้ยาหัวใจเต้นผิดจังหวะ amiodarone
3. ผู้สูงวัยอาจจะไม่สามารถกินยาได้ตามที่ผู้สั่งยาต้องการ ไม่ว่ามองไม่เห็น ลืม ไปหยิบไม่ได้ หรือกินยาซ้ำ การจัดยาให้ง่าย เข้ากับเวลาในชีวิตประจำวันจึงสำคัญ
4. ข้อควรระวังการใช้ยาจะเพิ่มขึ้น มันจะไม่ง่ายเหมือนหนุ่มสาว เช่นการใช้ยาฮอร์โมนไทรอยด์ในผู้สูงวัย ที่ต้องระวังโรคหัวใจขาดเลือดและเต้นผิดจังหวะมาก ๆ ๆ
5. ต้องทบทวนยาเสมอ บางทียาเก่าไม่หมด พอให้ยาใหม่กินทั้งคู่ หรือรักษาหลายที่ อาจได้ยาที่ไม่จำเป็นตามข้อ 2 มาจากหลายที่และกินพร้อม ๆ กันเพราะชื่อต่างกัน (บางทีชื่อเหมือนกัน) เอามาดูทั้งกอง ระบุชนิดให้ได้ ใครพาผู้สูงวัยไปหาหมอ ยกมาทั้งตะกร้าเลยนะครับ ตรวจหมด
6. อย่าหยุดยาเดิมโดยพลการที่เราไม่เข้าใจเหตุผลการสั่ง (ยกเว้นมีผลข้างเคียงรุนแรง) ผมเจอบ่อยมากกับการหยุดยา beta blocker เพราะเห็นว่ามียาความดันตัวอื่นแล้ว ทั้ง ๆ ที่เราให้รักษาหัวใจวาย
7. ยาเติมยาที่ไม่จำเป็น ผู้สูงวัยจะได้ยามากอยู่แล้ว ทั้งยาหมอสั่งและยาซื้อเอง ก่อนจะให้ยาใช้ยา ให้คิดถึงผลดีผลเสีย ข้อห้าม ความจำเป็นเสมอ ทุกครั้ง ทุกตัว (อ่านแนวทาง Beers Criteria นี้ได้) ที่มีอยู่มันก็เยอะมากอยู่แล้ว อย่าใช้ว่าเพียงเพื่อ " น่าจะดีนะ" แต่ให้ใช้ตามหลักการและเหตุผล
ยังไม่นับรวมถึงต้องกำชับผู้ดูแลให้จัดยา ดูแลการกินยา ดูผลแทรกซ้อน ให้ผู้ดูแลมากับผู้ป่วยสูงวัยเพื่อถามชีวิตประจำวันด้วย
อย่างที่บอกครับ เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก และผู้สูงวัยไม่ใช่หนุ่มสาวที่อายุมาก
ด้วยความห่วงใย จากแอดมินสายตายาว
ทบทวนของเดิมที่เขียนไว้
http://medicine4layman.blogspot.com/2017/06/blog-post_6.html
American Geriatrics Society 2019 Updated AGS Beers Criteria
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/jgs.15767

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น