29 มกราคม 2562

เส้นเอ็นบาดเจ็บ มีอะไรต้องรู้บ้าง

⚀⚀ เส้นเอ็นบาดเจ็บ มีอะไรต้องรู้บ้าง
การบาดเจ็บที่พบบ่อยในชีวิตประจำวันมีตั้งแต่ฟกช้ำ ฉีกขาด หัก หลุด ทั้งจากการเล่นกีฬา อุบัติเหตุ ลื่นล้ม เรามาทำความเข้าใจง่าย ๆ กัน
⚁⚁ sprain กับ strain ต่างกับอย่างไร
sprain คือการบาดเจ็บบริเวณกระดูกและข้อ จุดที่บาดเจ็บคือเอ็นที่ยึดกระดูกเข้าหากันจะเป็นเอ็นแข็งแรง จะบาดเจ็บได้ต้องมีความรุนแรงพอควร และมุมกับองศาที่เกิดความตึงจนไม่สามารถยึดได้ เราแบ่ง sprain เป็นสามระดับ
ระดับหนึ่ง คือ มีการตึงยืดรุนแรง มีการบาดเจ็บ แต่ไม่ฉีกขาด จะปวดและบวมเล็กน้อย
ระดับสอง คือ มีการปริแตก หรือฉีกบางส่วน แต่ไม่ขาด จะมีอาการบวมมาก ลงน้ำหนักแล้วเจ็บ
ระดับสาม คือ ขาดออกจากกัน อันนี้จะบวมมาก เจ็บมาก ถ้าเป็นจุดยึดต่อสำคัญจะมีความไม่มั่นคงของข้อต่อ โยกคลอน (dislocation)
⚂⚂ ส่วน strain จะหมายถึงการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเอ็นยึดกล้ามเนื้อกับกระดูกที่เรียกว่า tendon มักจะมีอาการปวดเมื่อต้องออกแรงกล้ามเนื้อมัดนั้น ไม่ค่อยส่งผลต่อความคงตัวมั่นคงของข้อต่อนัก
⚃⚃ ตรวจแยกอย่างไร
ใช้การตรวจร่างกายพื้นฐาน ดูการทำงานของข้อต่อและกล้ามเนื้อ โยกดูความมั่นคงแข็งแรง หากสงสัยจะมีกระดูกแตกหักร้าว อาจส่งตรวจทางรังสีเพิ่มเติ่ม หรือกรณีที่สงสัยฉีกขาดหมดและต้องผ่าตัดซ่อมแซมอาจส่งตรวจ MRI หรือ CT scan
ข้อสำคัญคือ ต้องตรวจดูการบาดเจ็บอื่น ๆ ร่วมด้วยทั้งหลอดเลือด เส้นประสาท และกระดูก เพราะอาการที่มาแสดงคือ ปวด บวม เหมือนกัน
⚄⚄ ต้องผ่าตัดไหม
การผ่าตัดจะทำเมื่อมีการฉีกขาดสมบูรณ์อันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เอ้ย ของข้อต่อ ทั้งตอนนี้หรือในวันข้างหน้า หรือเมื่อมีการบาดเจ็บอื่น ๆ ที่ต้องผ่าตัดด้วย เช่นกระดูกหักแตก หรือแผลเปิดจากด้านนอก อาจต้องยึดตรึงด้วยเหล็ก หรือเย็บซ่อมแซม
ส่วนมากจึงไม่ต้องผ่าตัด ให้การรักษาแบบประคับประคองก็หายเองได้
⚅⚅ ประคับประคองอย่างไร
ในช่วงแรกของการบาดเจ็บเราจะให้การรักษาด้วยวิธี RICE
R : rest หยุดการทำงาน งดลงน้ำหนัก จะได้ไม่ไปเพิ่มการบาดเจ็บ และห้ามนวดเฟ้นนะครับ
I : ice ใช้ความเย็นประคบ ก็น้ำแข็งนี่แหละครับ ห่อผ้าแล้วประคบเลย ใน 24-30 ชั่วโมงแรกยังเกิดประโยชน์ ลดปวด ลดเจ็บ ลดบวม
C : compress ยึดตรึงโดยการพันด้วยผ้ายืด การดามกับเฝือก เพื่อลดการเคลื่อนที่ ลดการบาดเจ็บต่อเนื่อง
E : elevate ยกจุดที่บาดเจ็บสูงขึ้น เพื่อลดการบวมคั่งของเลือดและสารน้ำ
⚅⚀ ในกรณีบาดเจ็บรุนแรงแต่ยังไม่ต้องผ่าตัด คุณหมออาจจะใส่เฝือกหรืออุปกรณ์ดามยึดตรึงไว้สักสามสัปดาห์ การใช้ยาเพื่อลดอาการปวดและอักเสบจะช่วยได้มาก ยาที่แนะนำคือยาต้านการอักเสบ (นี่แหละข้อบ่งชี้การใช้ยาต้านการอักเสบ และเป็นยาแก้อักเสบของจริง ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะ) ชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ใช้บ่อย ๆ เช่น ibuprofen, diclofenac, naproxen, celecoxib, etoricoxib หรือถ้าไม่รุนแรงอาจใช้พาราเซตามอลก็เพียงพอ
และในวันหลัง ๆ ใช้ความร้อนประคบจะช่วยลดอาการปวดและอักเสบได้ดี โดยเฉพาะลูกประคบต่าง ๆ แต่ต้องระวังในผู้ป่วยที่การรับสัมผัสผิดปกติเช่นอัมพาต กระดูกทับเส้นประสาท หรือเบาหวาน เพราะการรับสัมผัสบกพร่อง บอกไม่ได้ว่าร้อนเกินไปจนอาจจะเป็นแผลไหม้ได้
⚅⚁ การลดการใช้งานและลดการลงน้ำหนักเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการบาดเจ็บบริเวณข้อเท้าหรือกึ่งกลางเท้า (midfoot injuries, Lisfranc's injuriy) ควรใข้อุปกรณ์ช่วยเดิน เพื่อแบ่งรับน้ำหนักไปลงที่อุปกรณ์ค้ำยันต่าง ๆ ที่สำคัญต้องใช้ให้ถูกวิธีด้วยนะครับ ถ้าลงน้ำหนักผิด เดินผิดท่า นอกจากไม่ช่วยอะไรแล้วยังเกะกะอีกด้วย ปรึกษาน้อง ๆ นักกายภาพบำบัดเสมอนะครับ ไม่ว่าจะใช้อุปกรณ์ช่วยเดินด้วยวิธีใดก็ตาม
⚅⚂ โดยทั่วไปใช้เวลา 2-4 สัปดาห์ก็กลับมาเป็นปรกติ แต่หากมีการฉีกขาดของเอ็นอาจต้องระวังว่าเมื่อการเชื่อมต่อไม่เป็นแบบสมบูรณ์ ซึ่งมันก็ไม่สมบูรณ์แน่ ๆ เพราะมันจะเกิดแผลเป็น เนื้อเยื่อแผลเป็นมันไม่ยืดหยุ่นเหมือนเดิม เพิ่มโอกาสที่ข้อจะไม่แข็งแรง การรับน้ำหนักผิดปกติหรือข้อเสื่อมก่อนเวลาอันควรได้
ผมอ่านและสรุปง่าย ๆ มาจาก American Academy of Orthopedics Surgeons ถ้าศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ท่านใดมีความเห็นเพิ่มเติม หรือแฟนเพจท่านใดมีความเห็นและประสบการณ์เพิ่มเติม มาช่วยให้ความเห็นได้เลยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น