25 ตุลาคม 2561

การลดการบริโภคโซเดียมในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว

สรุปย่อที่น่าสนใจจากบทความเรื่อง การลดการบริโภคโซเดียมในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว ของ อ.จริยา บุญภัทรรักษา นักวิชาการโภชนาการจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ลงตีพิมพ์ในวารสารโภชนบำบัด ปีที่ 25 ฉบับที่หนึ่ง ม.ค.-เม.ย. 2560
อาจารย์เขียนเรื่องการลดเค็มในอาหารไว้ดีมาก ผมขอนำมาสรุปง่าย ๆ ให้ท่านได้ฟังสิบข้อสั้น ๆ เหมือนเดิม
1. ปรกติแล้วตามธรรมชาตินั้นร่างกายควบคุมเกลือได้ แต่หากป่วยเช่นโรคไต โรคหัวใจ โรคความดัน ประสิทธิภาพการควบคุมเกลือจะลดลง หากบริโภคเกลือมากร่างกายจะกำจัดส่วนเกินไม่ไหว สมดุลน้ำและเกลือจะผิดปกติ ทำให้น้ำและเกลือเกิน
2. เกลือแกง ไม่ใช่ โซเดียม เกลือแกงมีโซเดียม 40% อาหารอื่น ๆ ก็มีโซเดียม ร่างกายใช้โซเดียมในการปรับสมดุลน้ำและเกลือ โซเดียมจึงสำคัญ
3. แต่ละวันความต้องการโซเดียมคือ 2.4 กรัมต่อวัน เท่ากับเกลือแกงแค่ 1.5 ช้อนชาเท่านั้น !! ส่วนผู้ป่วยโรคหัวใจหรือโรคความดันไม่ควรกินโซเดียมเกิน 2 กรัมต่อวัน ก็น้อยกว่าหนึ่งช้อนชาต่อวัน
4. แต่ทว่าในอาหารแต่ละอย่างก็มีโซเดียมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้าว ถั่ว เนื้อสัตว์ ผลไม้ แม้กระทั่งน้ำดื่ม ก็ไม่ได้มากนักแต่ก็พอเพียงกับความต้องการของร่างกาย ถ้าเรายิ่งเติมโซเดียม เติมเกลือแกงลงไปในอาหารอีก มันก็จะเกิน
5. เกลือแกงที่มองเห็นง่าย ก็เกลือ น้ำปลา ซีอิ้ว ซอส น้ำจิ้ม ผงชูรส ซุปก้อน เราก็ควรลดการปรุง ปรุงให้น้อย ซดซุปน้อยลง ถ้าทำอาหารเองก็อย่าเติมมาก
6. เกลือแกงที่มองไม่เห็น เช่น อาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมถุง ขนมที่มีการเติมผงฟู ในคนที่ต้องจำกัดเค็มก็ต้องหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้ และยังมีน้ำแร่ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง เครื่องดื่มเกลือแร่ของนักกีฬา ชีส ที่มีโซเดียมสูง
7. อาหารจานเดียวก็มีโซเดียมสูง เช่น ข้าวกะเพราไก่มีโซเดียม 972 มิลลิกรัมต่อจาน เส้นใหญ่เย็นตาโฟมีโซเดียม 1,076 มิลลิกรัมต่อชาม เส้นใหญ่ผัดซีอิ๊วมีโซเดียม 2,589 มิลลิกรัมต่อจาน ส้มตำไทยมีโซเดียม 2,190 มิลลิกรัมต่อจาน ควรลดอาหารเหล่านี้ลง
8. อาหารไทยปรกติที่ไม่ปรุงเพิ่ม จะมีโซเดียมอยู่แล้วประมาณ 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน ดังนั้นยิ่งเราปรุงเพิ่ม โซเดียมยิ่งเพิ่ม ยิ่งกินอาหารแปรรูป โซเดียมยิ่งมาก
9. สามารถใช้รสชาติอื่น ๆ ชูรสได้เช่น เปรี้ยว เผ็ด ใส่พืขสมุนไพรเครื่องเทศทดแทนได้ หรือควรอ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อ แนะนำอาหารที่มีโซเดียมน้อยกว่า 120 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (เพราะเรากินหลายหน่วยบริโภค)
10. เมื่อเราลดเค็มไปสักระยะ ร่างกายจะชิน กินจืดได้ อาจจะทรมานในช่วงการปรับตัวช่วงแรกเท่านั้น สามารถลดการนอนโรงพยาบาล ลดบวม ลดความดันโลหิตและคุณภาพชีวิตดีขึ้น
ลดเกลือ ลดเค็ม ทนไม่นานก็คุ้น
กินเค็มมาก เป็นทุน ชีวิตเฉา
แต่ถ้าลด กิจกรรม ของสองเรา
ทนไม่ไหว หมองเศร้า เน่า...คาเตียง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น