13 ตุลาคม 2561

ออกกำลังกายเข่า เข่าเสื่อม

ภาพที่เห็นคือภาพเอ็กซเรย์ข้อเข่าในท่าตรง ผู้ป่วยรายนี้เข่าเสื่อม

  เข่าเสื่อมเป็นโรคที่กระดูกอ่อนหุ้มข้อเสื่อมถอย ทำให้มีอาการปวดเวลาขยับหรือรับน้ำหนัก จากภาพจะเห็นช่องว่างระหว่างกระดูกขาท่อนบน (femur) และกระดูกขาท่อนล่าง (tibia) ไม่เท่ากัน ด้านขวาของภาพหรือด้านในลำตัวจะแคบกว่า เป็นลักษณะของการตีบแคบของข้อที่ไม่เท่ากัน พบได้บ่อยในโรคข้อเสื่อม
  ข้อเสื่อมเกิดได้จากอายุ การใช้งานซ้ำ ๆ องศาการทำงานผิดรูป ทำให้ "ข้อ" อันประกอบด้วยกระดูกอ่อน เยื่อหุ้มข้อ น้ำในข้อ มันทำงานบกพร่องไป เราจึงต้องอาศัยกล้ามเนื้อรอบข้อมาช่วยพยุงเข่า

   สำหรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมนั้น การออกกำลังกายกล้ามเนื้อรอบเข่าเป็นสิ่งสำคัญมาก ช่วยพยุงข้อเข่าให้มั่นคงแข็งแรง มีกำลังยืนและเดินได้ถนัด (เวลาปวดเราจะขยับน้อยลง กล้ามเนื้อจะฝ่อลง) ลดอาการปวดลงได้มาก
  นั่นคือ ใช้ยาน้อยลงเจอผลข้างเคียงน้อยลง ชะลอการผ่าตัด และทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

   การออกกำลังกายกล้ามเนื้อรอบข้อเข่านั้น กล้ามเนื้อหลักคือ กล้ามเนื้อต้นขา คุณลองยกขาเข่าตึง แล้วลองจับต้นขาดูครับ จะเจอกล้ามเนื้อเป็นมัด สอบลงไปใต้เข่า โอบรัดเข่าเอาไว้ เราเรียกกล้ามเนื้อนี้ว่า quadriceps femoris เพราะมันมีหลายมัด หลายหัวมาพันรวมกัน (quad คือ สี่ส่วน)
  ส่วนกล้ามเนื้อหลังเข่าก็มีส่วนในการพยุงบ้าง แต่ไม่มากเหมือนด้านหน้า การเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเข่าเพื่อรักษาโรคข้อเสื่อมจะเน้นกล้ามเนื้อด้านหน้า (โดยเฉพาะมัดในสุด vastus medialis)

   ** หลักการที่สำคัญคือต้องออกแรงทำเอง ** ใช้เครื่องหรือใช้คนอื่นช่วยไม่ได้ ในการออกแรงเหยียดและงอเข่า ในระยะที่ปวดมากอาจจะเริ่มที่เหยียดเข่าแล้วเกร็งเท่านั้น พออาการปวดดีขึ้นก็เริ่มเพิ่มองศาการเคลื่อนไหว เช่น เอาหมอนรองเข่าแล้วเหยียดงอ องศาไม่กว้างนัก   ต่อมาก็นั่งเก้าอี้เหยียดงอมุมฉากเลย เราจะไม่งอมากจนเกินไปนะครับ ไม่ต้องถึงขั้นพับขา
  ตอนที่นั่งเหยียดงอ เราใช้น้ำหนักขาเราเองเป็นตัวต้าน มันก็พอได้ แต่ถ้าต้องการจะให้กล้ามเนื้อแข็งแรงก็ต้องมีแรงต้าน ไม่ว่าจะเป็นถุงทราย ยางยืด แบบยกเวตสร้างกล้ามเนื้อนั่นแหละ แต่หากท่านอายุพอสมควรก็อย่าไปคาดหวังว่ากล้ามเนื้อจะใหญ่โตแข็งแรงมากขึ้น เพราะด้วยวัยทำให้มวลกล้ามเนื้อลดลง เอาแค่รักษามวลกล้ามเนื้อ รักษาของเก่าให้แข็งแรงก็พอ
  ** ประเด็นสำคัญคือต้องเหยียดให้ตึงจริง ๆ และเกร็ง ** เพราะกล้ามเนื้อทั้งหมดจะได้ออกแรงเต็มที่ อย่ายกก้นช่วย ออกแรงเป็นชุด ชุดละ 12-15 ครั้ง จนครั้งท้าย ๆ อ่อนแรงเต็มที่แล้วพัก ทำครั้งละ 3-4 ชุด ทำในระยะแรก ๆ จะปวดและระบมสักเล็กน้อยนะครับ

  เมื่อกล้ามเนื้อรอบเข่าแข็งแรงก็จะมีตัวช่วยมาพยุงข้อและกระดูกที่เสื่อมลง การเคลื่อนไหวดีขึ้นและปวดลดลง อย่าลืมลดแรงกระทำต่อข้อเข่า คือการลดน้ำหนักด้วยนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น