07 กันยายน 2561

เครื่องช่วยหายใจแบบไม่ใส่ท่อ non-invasive ventilator (NIV)

เครื่องช่วยหายใจแบบไม่ใส่ท่อ non-invasive ventilator (NIV)
หลาย ๆ ท่านอาจจะเคยเห็น เครื่องช่วยหายใจที่ต้องใส่ท่อนี่แหละแต่ว่าใช้กับหน้ากากแทนไม่ต้องใส่ท่อ หรือบางคนเคยเห็นผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับพกไปใช้ที่บ้าน นั่นก็เป็นเครื่องช่วยหายใจปลีกย่อยของประเภทนี้ด้วย
กล่าวโดยสรุปคือเครื่องช่วยหายใจนั่นแหละ เป็นชนิดที่ผู้ป่วยเป็นคนกำหนดการหายใจ เครื่องจะช่วยเมื่อมีการกระตุ้นความต้องการหายใจจากการเริ่มสูดหายใจ เมื่อเครื่องรับรู้ว่าผู้ป่วยต้องการสูดหายใจ เครื่องจะปล่อยลมออกมาช่วยด้วยความดันและเวลาตามที่กำหนด
ผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ที่ใช้เครื่องแบบนี้คือ ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองและมีอาการกำเริบเฉียบพลัน กลุ่มนี้มีข้อมูลสนับสนุนการใช้มากที่สุด ส่วนหอบหืดกำเริบ น้ำท่วมปอดหัวใจวาย หลังถอดท่อช่วยหายใจ หลักฐานการศึกษาน้อยกว่ามาก
ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองเรื้อรังที่กำเริบ จะมีลมค้างอยู่ในปอดมาก ไม่สามารถไล่ลมออกมาจากปอดได้ ลมหายใจเข้าก็จะเข้าไปไม่ได้ เครื่องจะเพิ่มความดันลมหายใจเข้า ให้มีความดันลมมากกว่าที่ร่างกายจะสร้างไหว ลมจะไหลเข้าปอด นำพาออกซิเจนเข้าไปและพาคาร์บอนไดออกไซด์ที่ค้างออกมา
ข้อดีมาก ๆ ของมันคือ ไม่ต้องใส่ท่อ การใส่ท่อช่วยหายใจจะทรมานมาก พูดไม่ได้ เจ็บ กินไม่ได้ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์คือการช่วยเหลือที่ทรงประสิทธิภาพ แต่สำหรับคนไข้ การนำอุปกรณ์สอดใส่ในร่างกายโดยเขาไม่ชอบ มันทุกข์พอสมควร
แต่ว่า การจะใช้เครื่องแบบนี้ให้ประสบความสำเร็จได้ มันก็ต้องมีกลยุทธ มีวิธี หลายครั้งที่ใช้แล้วก็ลงเอยด้วยการใส่ท่อทุกครั้ง เรามาเรียนรู้กลยุทธกัน สิ่งต่าง ๆ ที่เขียนนี้มาจากการอ่านเรื่องนี้จากหลาย ๆ แหล่ง การอบรมวิชาการ และประสบการณ์การใช้จริง หากมีข้อผิดพลาดหรือต้องการเสริม สามารถเขียนเติมมาได้นะครับ
1.ควรใส่เครื่องตั้งแต่ต้น อย่าลืมว่าเครื่องนี้ไม่ได้ควบคุมผู้ป่วย แค่ช่วยเขาเท่านั้น หากเราปล่อยให้ผู้ป่วยกำเริบนาน ๆ ไปร่างกายจะล้าและไม่สามารถหายใจได้เอง การใส่เครื่องก็จะไม่ช่วยอะไร ถึงตอนนั้นต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องเพื่อควบคุมผู้ป่วยแทน ควรเริ่มใส่เครื่องเมื่อเห็นว่ากำเริบรุนแรงและมาถึงที่ห้องฉุกเฉินเลย อย่ารอให้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์คั่งมาก ๆ จนไม่ไหว
2.เลือกหน้ากากให้เหมาะสม สาเหตุที่ล้มเหลวมาก ๆ คือ หน้ากากไม่เหมาะกับรูปหน้า เรามีหน้ากากหลายแบบ หากเลือกไม่เหมาะลมจะรั่วออกเพราะไม่แนบสนิทใบหน้า ผู้ป่วยจะไม่สบายและล้มเหลวเพราะลมไม่พอ ถึงแม้จะมีเครื่องช่วยหายใจแบบชดเชยลมรั่วได้ก็ตาม
3.ทางเดินหายใจผู้ป่วยต้องดี เราอัดลมผ่านหน้ากากจากภายนอก อย่าลืมว่าทางเดินหายใจภายในนั้น ผู้ป่วยยังควบคุมเอง หากเสมหะมากจนอุดตัน หรือผู้ป่วยกระสับกระส่ายจนไม่แน่ใจว่าจะควบคุมทางเดินหายใจตัวเองได้ไหม ควรเลือกใส่ท่อช่วยหายใจดีกว่า
4.การปรับแต่งเครื่องตอนแรก ๆ สำคัญที่สุด หมอผู้ใช้เครื่องควรยืนจับหน้ากากกับใบหน้าผู้ป่วยและค่อย ๆ ปรับแต่งเครื่องจนสบาย หากผู้ป่วยไม่สบายตั้งแต่แรกเขาจะไม่ใช้อีกเลย และเมื่อหมอมายืนกด ยืนปรับ อธิบายข้าง ๆ ผู้ป่วยจะผ่อนคลายและร่วมมือดีมาก ผู้ป่วยส่วนมากจะตกใจ ไม่คุ้นเคย จะหายใจผิดแบบ ไม่ยอมให้เครื่องช่วย ทำให้ล้มเหลว การพูดอธิบายและสอนในช่วงแรก สำคัญที่สุด
5.อย่าปรับแรงดันสูงเกินไป อย่าลืมว่าลมอัดใส่หน้าผู้ป่วย ไม่ได้ใส่ท่อ การปรับแรงดันสูงเพื่อหวังผลจะช่วยทันที ใช้ปริมาณการหายใจต่อนาทีเพิ่มเพียงพอจะทำให้ลมอัดเข้ามาด้วยความเร็วสูง ผู้ป่วยเจ็บ อึดอัดและรั่วมากขึ้นด้วย โดยทั่วไปแนะนำเริ่มความดันที่ช่วยเหลือ ประมาณ 5-8 เซนติเมตรน้ำก่อน แล้วค่อย ๆ ปรับขึ้นลง
6.ให้ผู้ป่วยหายใจตามปกติ เครื่องจะช่วยเอง ในสองนาทีแรกของการใส่หน้ากาก ต้องสอนให้ผู้ป่วยเชื่อมั่นว่าเครื่องจะช่วยและเขาจะสบาย ผู้ป่วยหลายคนตกใจ หอบหายใจทั้งทางปากและจมูก พ่นลมออกมาทั้งปากจะจมูก จังหวะไม่ราบรื่น ลมรั่วมากมาย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้แก้ได้โดยค่อย ๆ ปรับ
7.ใส่ความชื้นด้วย เพราะหากไม่ใส่ความชื้น ลมแห้ง ๆที่ดันใส่ใบหน้าจะแสบปากแสบจมูก รั่วไปโดนลูกตาจะแสบตา (หรืออาจให้หลับตาก็ได้นะครับ เคยลองมาแล้วไม่แสบตาและสงบดี) และปรับใช้แรงดันต่ำที่สุดเท่าที่จะช่วยผู้ป่วยและไม่ทรมาน
8.เฝ้าสังเกตอย่างดี หากสำเร็จผู้ป่วยจะสงบลง หายใจช้าลง ได้ลมมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงแก๊สในเลือดดีขึ้น แต่หากไม่ไหวก็ควรใส่ท่อช่วยหายใจโดยเร็ว อย่ารอ ช่วงที่ไม่ทราบว่าจะออกหัวหรือก้อยนี้ จำเป็นต้องเฝ้าระวังติดตามอย่างดี โดยทั่วไป 15-30 นาที
9.ถอดออกได้เวลาผู้ป่วยไม่สบาย อึดอัด ไอ หรือกินอาหาร และใส่ใหม่เมื่อเสร็จธุระดังกล่าว ผู้ป่วยจะสบายใจที่จะใช้เครื่อง โอกาสใส่ท่อลดลง เวลาในไอซียูลดลง เวลานอนโรงพยาบาลลดลง ผลแทรกซ้อนจากการใส่เครื่องและนอนโรงพยาบาลลดลง
10.เปิดใจให้กว้างกับวิธีใหม่ ๆ ฝึกให้คุ้นชิน เรียนรู้ที่จะใช้และพลาด หลาย ๆ คนไม่กล้าใช้เพราะไม่เคย ยุคนี้มีข้อมูลการอ่าน การดูวิดีโอ การอบรม เราจะช่วยคนไข้ได้มาก ส่วนคนไข้และประชาชน ก็น่าจะรู้เรื่องราวของวิธีช่วยแบบใหม่ ๆ นี้ จะได้ไม่ตกใจและร่วมมือกับการรักษา และเชื่อมั่นในการรักษาครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น