09 กันยายน 2561

ลิขสิทธิ์คุ้มครอง

วารสาร ตำรา เอกสาร ภาพ แผนภูมิ ...สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีลิขสิทธิ์คุ้มครอง
หลายครั้งหลายหนที่เราอยากจะนำภาพหรือข้อความเอาไปใช้ด้วยเห็นว่าเป็นข้อความที่น่ารู้หรือภาพที่สื่อความหมายได้ดี การนำไปใช้โดยไม่ขออนุญาตอาจเกิดปัญหาภายหลังได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำไปเขียนตำรา นำไปอ้างอิงงานวิจัย นำไปเป็นสไลด์ นำมาโพสต์บนโลกอินเตอร์เน็ต
เรามาดูเกณฑ์การขออนุญาตและข้อควรรู้จาก Elsevier ผู้พิมพ์จำหน่ายวารสารทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์มากมาย จริง ๆ จากวารสารอื่น ๆ ก็ทำนองเดียวกัน
ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าสิ่งต่าง ๆ นี้มีลิขสิทธิ์คุ้มครองจนกว่าจะระบุเป็นอย่างอื่น และโดยส่วนมาก จริง ๆ ก็เกือบทั้งหมดแหละครับ ลิขสิทธิ์และการขออนุญาตต้องส่งคำร้องขอไปที่สำนักพิมพ์นั้น
หากท่านสังเกต ในหน้าเว็บไซต์วารสาร จะมีลิงค์ให้คลิกเข้าไปหากต้องการขออนุญาตพิมพ์ซ้ำหรือนำเนื้อหาไปใช้ เช่นคำว่า permissions, reprint, Rightslink's ให้เราคลิกเข้าไปเพื่อขออนุญาตนำไปเผยแพร่ เมื่อเราคลิกเข้าไปก็จะมีแบบสอบถามว่าเราคือใครและจะขอเนื้อหาไปทำอะไร เป็นเชิงการค้าหรือไม่
บางฉบับจะให้กรอกเลขบัตรเครดิตเพื่อยืนยันตัวตน !!! เดี๋ยวนี้ถ้าจะหักเงินต้องมี OTP code ด้วย
ต่อจากนั้นก็ให้ระบุจำนวนที่จะใช้ และทางวารสารจะขึ้นมาว่า เนื้อหานี้ใช้ได้หรือไม่ ใช้ได้เฉพาะสมาชิกหรือเปิดกว้างหมด เสียเงินหรือไม่และเสียเท่าไร ให้เราตรวจสอบได้ก่อน
ผมลองไปคลิกขออนุญาต บางคอนเท้นต์ที่เราเป็นสมาชิกก็ให้ฟรี แต่ต้องขอนะครับ และก็ต้องมีการอ้างอิงในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีให้เลือกด้วย บางอย่างแม้เป็นสมาชิกก็เสียเงิน ส่วนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกส่วนใหญ่ต้องเสียเงิน แพงเสียด้วย อย่างน้อย ๆ หลักพันต่อการขอหนึ่งครั้ง
เอกสารพิมพ์เล่มก็ตาม ก็ต้องทำแบบนี้ครับ อาจทำผ่านหน้าเว็บหรือกรอกเอกสารแนบไปกับอีเมล์ก็ได้ ทางวารสารจะมีแบบฟอร์มให้ ถ้าไม่เจอให้อีเมล์ ไปที่ contact us นะครับ
ต่อมาคือวารสารที่เปิดฟรี จะมีคำว่า free access อยู่ด้วย คำแนะนำของ Elsevier บอกว่าจะฟรีจริง ๆ เมื่อมีการประกาศจากเจ้าของที่แท้จริง คือ สำนักพิมพ์ว่าฟรีและใช้ได้ หรือเป็นเอกสารสาธารณะของทางรัฐบาลเช่น Guidelines เป็นต้น ส่วนมากพวกนี้จะมีคำชี้แจงแนบท้ายอยู่แล้วว่าฟรี
หากไม่มีคำแนบท้ายที่ชัดเจน ถึงแม้จะเขียนว่า free access ก็ยังแนะนำให้ขออนุญาตอยู่ดี ขอกับสำนักพิมพ์นะครับ บางทีผู้แต่งมีเจตนาให้ฟรีแต่ผู้ได้รับลิขสิทธิ์คือสำนักพิมพ์ ต้องขอสำนักพิมพ์ก่อนด้วย ...หลักการคือขอฟรีแต่ต้องขอ
ในกรณีไม่มีคำตอบกลับการร้องขอ หรือไม่สามารถหาที่อยู่ในการขอลิขสิทธิ์ได้ ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้ครับ ยังสันนิษฐานว่ามีลิขสิทธิ์หากเราจะใช้เราต้องทำการร้องขอและเก็บเป็นหลักฐานยืนยันว่าทำการขอแล้ว พยายามขอแล้ว แต่หาไม่พบเสียที
สำหรับงานที่ปลอดลิขสิทธิ์ หรืองานคลาสสิกที่เป็นสมบัติของชาวโลก ส่วนมากก็จะยังมีการคุ้มครองโดยองค์กรลิขสิทธิ์ของแต่ละประเทศ คือ นำไปใช้ได้ฟรีแต่ต้องยื่นขอ
งานกำพร้า งานที่ไม่มีเจตนาจะเป็นลิขสิทธิ์ หาผู้มีลิขสิทธิ์ไม่ได้ ก็ต้องใช้งานแบบมีจริยธรรม มีความเคารพต่อเจ้าของงานและไม่ดัดแปลง
งานต่าง ๆ ในเว็บไซต์บางทีเขาก็เอามาจากแหล่งลิขสิทธิ์จริง ๆ การจะนำไปใช้ต่อ ไม่ใช่ขอกับเว็บไซต์นะครับ จะต้องขอกับเจ้าของลิขสิทธิ์ดั้งเดิมของเขา
การเขียนเครดิตโดยไม่ขอ เขาถือว่ายังรับไม่ได้ครับ เราควรขอ พยายามขอ แสดงเจตนาว่าบริสุทธิ์ใจครับ
อีกวิธีคือขอจากหน่วยงานลิขสิทธิ์กลาง Copyright Clearance Center services ไม่เคยเข้าไปเหมือนกัน ใครเคยเข้าบอกด้วยเคยแต่เข้าจากหน้าเว็บวารสาร
*** วิธีที่ดีคือ ใช้ปุ่มแชร์ หรือ คัดลอก URL ให้คนที่จะชมเนื้อหาไปตามลิงค์ที่กำหนด อันนี้ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์แน่นอนครับ ไม่ได้ทำซ้ำ ไม่ได้แก้ไข ***
** อ่านให้ดีก่อนว่าเงื่อนไขใช้ซ้ำคืออะไร แต่ละที่ไม่เหมือนกัน หรือใช้ข้อมูลที่ประกาศฟรี อย่างเช่นผมชอบใช้ภาพฟรีจาก pixabay.com หรือการอ่านแล้วมาเรียบเรียงเป็นภาษาของเราเอง โดยบอกว่าเราอ่านจากไหน อย่างที่ผมทำทุก ๆ วันนี้ ไม่ถือว่าผิดลิขสิทธิ์ครับ **
ส่วนมากเจ้าของลิขสิทธิ์ก็จะมาตักเตือนก่อนครับ ให้เราแก้ไขหรือลงข้อความขอโทษ หรือลบบทความ รูปนั้นออกไป หากไม่ทำตามก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ประเทศไทยก็มีหน่วยงานและกฎหมายพิทักษ์ลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาออกมาใช้แล้ว การใช้เชิงพาณิชย์ การใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ลักษณะงานที่ไม่เจตนาเพื่อลิขสิทธิ์ ต้องไปหาอ่านนะครับ สำหรับใครที่จะทำเนื้อหา หนังสือ สไลด์ อินเตอร์เน็ตหรือกระทั่งการอ้างอิงผลงานตัวเองก็ตาม
อย่าลืมว่าข้อกฎหมาย การตีความกฎหมาย กับสิ่งที่เราคิดว่าใช่คิดว่าเป็น มันคนละอย่างกันครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น