30 กันยายน 2561

หนังสือเรื่องสงครามที่ไม่มีวันชนะ ของ คุณหมอชัชพล เกียรติขจรธาดา

ในบรรดาหนังสืออ่านนอกเวลาทางการแพทย์ ถ้าไม่อ่านเล่มนี้ถือว่าผิด
จริงๆ เคยเขียนแนะนำมาแล้วเมื่อต้นปี เมื่อคืนนี้ผมหยิบมาอ่านอีกครั้ง (จริงๆ รอบที่สามแล้ว) หนังสือเรื่องสงครามที่ไม่มีวันชนะ ของ คุณหมอชัชพล เกียรติขจรธาดา อ่านทีไรก็เร้าใจวางไม่ลงทุกที และคิดว่าต้องบอกต่อ
ถ้าคุณเป็นคนที่กำลังจะก้าวมาเป็นแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ คุณหมอที่กำลังเรียน คุณหมอที่จบแล้ว โดยเฉพาะอายุรศาสตร์และอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ เล่มนี้ต้องอ่าน..ทำไม ???
ไม่ได้เป็นเรื่องราวของเชื้อโรคคืออะไร ดื้อยาอย่างไร แต่เป็นเรื่องราวของการเรียนแพทย์ในอดีต ว่าไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ในอดีตความเชื่อทางศาสนา อิทธิพลทางความคิดประเภท "ต้องเชื่อห้ามเถียง" ทำให้การค้นคว้าทางการแพทย์เป็นไปได้ยาก หนังสือเล่มนี้จะเล่าบอกว่า การกำเนิดความรู้ทางการแพทย์ไม่ง่ายเลย
ผู้ที่อ่านจะได้เข้าใจ พื้นฐานการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงระหว่าง เหตุผลและหลักฐาน ว่าต้องไปด้วยกัน บางอย่างหลักฐานเกิดขึ้นมาก่อนนับร้อย ๆ ปี เช่นการล้างมือของหมอเซมเมลไวส์ ที่ช่วยลดการติดเชื้อหลังคลอด แต่กว่าจะพบเหตุผลรออีกนานเลย หรือบางอย่างเราพบสาเหตุก่อน เช่นการค้นพบจุลชีพของลีเวนฮุค แต่กว่าจะมาได้หลักฐานก็ต้องรออีกกว่าร้อยปี
ผู้อ่านจะได้เข้าใจถึงเชื้อโรคว่าได้เปลี่ยนความคิดและวิธีการศึกษาแพทย์ จากยุคสมดุลแห่งธรรมชาติ มาเป็นพื้นฐานแห่งร่างกาย ด้วยการศึกษา เหตุและผล จากวิชาโรคติดเชื้อ
ได้เข้าใจการพัฒนายาว่ากว่าจะคิดค้นได้ ค้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ทั้งความลำบากทางวิทยาการสมัยนั้น สังคมที่ยุ่งเหยิง การเมืองการทหารที่เข้ามามีส่วนกับการคิดค้นทางการแพทย์ แต่ปัจจุบันเราใข้ยาพร่ำเพรื่อและเชื้อกำลังดื้อยา
ท่านจะเข้าใจว่าทำไมการใช้เพนิซิลลินจึงเปลี่ยนโลกได้ และเหตุใดเราจึงใช้ยากันเพราะ "กลัว" มากกว่า "จำเป็น" ในช่วงห้าสิบกว่าปีที่ยาเพนิซิลินออกสู่ตลาด เรากำจัดจุลชีพก่อโรคเดิมที่มีมากว่า 4,000 ปี ไปเกือบหมด ในทางตรงข้ามเราได้คัดเลือกและให้กำเนิด X-bacteria (ชอบศัพท์นี้มาก) ที่กำลังก่อปัญหาในอีกไม่กี่ปีนี้
ใครยังไม่ซื้อไม่อ่าน ไปซื้อได้เลย ยิ่งน้องๆหมอทั้งหลาย ทุกสาขา ผมถือว่า เป็นวิชาบังคับ
ปล. ไม่ได้มีส่วนได้เสียอย่างใดกับสำนักพิมพ์นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น