20 สิงหาคม 2561

re-expansion pulmonary edema

ภาพนี้ลงในวารสาร Lancet เมื่อสองสัปดาห์ก่อน เรื่องราวของชายอายุ 46 ปี มีอาการเหนื่อยมากแน่นหน้าอกขวาและไอ เป็นอยู่ 4 วัน เขาป่วยเป็นโรคตับแข็งจากการดื่มเหล้า
ในวารสารฉบับเต็มไม่เขียนการตรวจร่างกายเลย..โอเค ไม่ใช่สิ่งที่เขาโฟกัส แต่เห็นฟิล์มแบบนี้ จะต้องตรวจร่างกายได้ก่อนจะส่งฟิลม์แล้ว ไม่ว่าจะฟังเสียงหายใจเบาลง เคาะทึบ หรือการส่งสัญญาณเสียงสะท้อนจากหลอดลมลดลง (vocal resonance, tactile fremitus)
ภาพรังสีภาพแรกแสดงเงาสีขาวเต็มปอดขวา เป็นภาพน้ำในเยื่อหุ้มปอดด้านขวา หลังจากวิเคราะห์แล้วเป็นน้ำในช่องปอดซึ่งเกิดจากโรคตับแข็ง เรียกว่า hepatic hydrothorax จริงๆแล้วหากปอดขวาปกติดี น้ำจะดันปอดและหัวใจเอียงไปด้านตรงข้าม แต่นี่หัวใจไม่ค่อยถูกดันออกไปเท่าไรนัก แสดงว่าต้องเกิดการยุบตัวของปอดขวา ดึงโครงสร้างตรงกลางคือหัวใจและหลอดเลือดไม่ให้ถูกดันไปมากนัก
มาดูภาพที่สอง ภาพนี้เกิดหลังจากผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยการใส่ท่อระบายน้ำออกไป ในวารสารบรรยายว่า ระบายออกไปสองลิตรในสองนาที !! เรียกว่าเร็วมากนะครับ ในกรณีการแก้ไขระบบหายใจที่ถูกกดเบียดเฉียบพลันจนหายใจไม่ได้ เราอาจใช้วิธีนี้ แต่เราจะระบายจนหายใจได้แล้วค่อย ๆ ปล่อยออก มากกว่าจะปล่อยมาก ๆ แบบท่อรั่วแบบนี้
ในภาพที่สองเราจะเห็นว่าหลังจากระบายน้ำออก มีลมอยู่เหนือน้ำเป็นเงาสีดำสนิท ระดับน้ำและลมแยกออกจากกันชัดเจน ภาพนี้เราไม่เห็นเงาปอดเลย เพราะปอดถูกน้ำและลมบีบอัดจนแฟบลงนั่นเอง ลมที่เห็นไม่ได้บอกที่มาว่าเกิดจากอะไร แต่ผมก็คิดว่าเกิดจากลมที่รั่วเข้าไปในขณะใส่ท่อ
และจากภาพที่สอง คุณหมอที่ดูแลเห็นว่าน้ำยังออกช้าไป เขาเลยใส่ท่ออีกอันเพื่อระบายออกมา (อันนี้พิจารณาเป็นรายๆนะครับ การใส่ท่อระบายสองอัน ไม่มีการทำมากนัก)
เรามาที่ภาพที่สาม อันนี้ระบายออกหมดแล้ว แต่ท่านจะเห็นเงาสีขาว ๆ ปุยๆ อยู่ที่ปอดกลีบบนและกลีบกลาง เอ....น้ำก็ระบายออกหมดแล้ว แล้วเงาน้ำสีขาว ๆ ปุย ๆ นี้คืออะไร นี่เป็นน้ำที่ซึมออกมาอยู่ในถุงลมและท่อลมของปอด เพราะเราระบายน้ำออกไปเร็วมาก ปอดแฟบ ๆ ที่ถูกกดอยู่ เด้งดึ๋งออกมาอย่างเร็วเพราะสิ่งที่กดทับมันหายไปหมดแล้ว
จากฟองน้ำที่ถูกกดแฟบ ปล่อยให้เด้งฟูอย่างเร็ว เกิดแรงดูดมหาศาลในท่อลมและถุงลม ทำให้สารน้ำจากหลอดเลือดและพื้นที่รอบ ๆ ถูกดูดเข้ามาอยู่ในถุงลมและท่อลม คล้าย ๆ สิ่งที่เกิดในภาวะหัวใจวายน้ำท่วมปอด เรียกภาวะนี้ว่า re-expansion pulmonary edema
มีอาการเหนื่อย ไอ ได้เพราะอากาศลงไปแลกเปลี่ยนในถุงลมไม่ได้
ภาวะนี้เกิดไม่บ่อยนัก มักจะเกิดเวลาปอดถูกกดจากลมและน้ำในเยื่อหุ้ม และหากเราระบายลมและน้ำออกเร็วมาก ปอดเด้งออกมาเร็ว ไม่มีเวลาปรับสมดุล สารน้ำยังไม่ได้รับการจัดการจึงถูกดึงมาอยู่ในถุงลมนั่นเอง
มาดูภาพที่สี่ เมื่อให้การรักษาภาวะ re-expansion pulmonary edema น้ำในถุงลมจะกลับเข้าไปอยู่ในหลอดเลือด อาการไอและเหนื่อยลดลง ภาพเอ็กซเรย์ปอดไม่เห็นน้ำอีก
ภาวะนี้เมื่อดูแลประคับประคอง ให้ออกซิเจน ปรับสมดุลน้ำและเกลือแร่ ร่างกายก็จัดการเองได้ และจะหายไปได้เองครับ แต่ก็อาจต้องนอนโรงพยาบาลนานขึ้น เสียค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นจากการต้องประคับประคองภาวะแทรกซ้อน
หากไม่ฉุกเฉินแบบกดการหายใจหรือกดเบียดหลอดเลือด เราควรระบายออกไม่เร็วนักครับ ประมาณวันละ 1-2 ลิตร (ตัวเลขนี้ไม่เท่ากัน แล้วแต่งานวิจัย ตำรา และภาวะของคนแต่ละคน แต่ส่วนมากประมาณนี้) เพื่อลดโอกาสการเกิดภาวะนี้นั่นเอง
Lancet 2018; 392: 507

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น