26 กรกฎาคม 2561

operation vital sign 3

episode 3 ...ชีพจร
แม้ว่าเครื่องมือตรวจวัดชีพจรแบบนาฬิกาหรือแผ่นแปะอกจะออกมาและได้รับการรับรอง ราคายังเกินเอื้อมมาก เราจะมาใช้อุปกรณ์พื้นฐานก็พอในการเรียนรู้ชีพจร
1. ตำแหน่งที่จับง่ายคลำชัดคือที่ข้อมือครับ เวลาคลำใช้สามนิ้วลูกเสือสามัญ ชี้กลางนาง สัมผัสและกดเบาๆให้รู้สึกถึงชีพจรที่ดันนิ้วเราขึ้นมา จุดอื่นที่คลำได้คือที่คอ แต่อย่ากดแรงกดนานครับ อีกที่คือที่ขาหนีบ ท่านอาจคลำเองหรือจะให้คนอื่น "คลำ" ก็ได้
2. สามสิ่งง่ายๆที่เราจะคลำ คือ อัตราเร็ว จังหวะ และ ความแรง อุปกรณ์ที่สำคัญคือนาฬิกาครับ สำหรับอัตราเร็วแนะนำให้นับชีพจรที่เต้นต่อหนึ่งนาทีเต็ม ส่วนจะจับ 15 วินาทีแล้วคูณสี่ ผมว่าไม่ละเอียดเท่าครับเสียเวลานาทีเดียวเอง ถ้าจังหวะสม่ำเสมอดีก็บอกได้ว่าอัตราชีพจรกี่ครั้งต่อนาที การติดตามก็เหมือนกับไข้นะครับ ใช้เปรียบเทียบกับค่าเดิม หรือบันทึกค่าที่เร็วมากๆเอาไว้ว่าหัวใจของเราที่ว่าเต้นเร็วนั้นเร็วเท่าไร
3. จังหวะ แยกสองอย่างครับสม่ำเสมอกับไม่สม่ำเสมอ จะไม่สม่ำเสมอแบบใดเป็นหน้าที่คุณหมอจะจัดการ เราแค่ดูว่าระยะมันเท่ากัน หรือผิดแบบเช่น แรงสองครั้งเบาหนึ่งครั้ง หรือเต้นแบบ ตุบ-ตุบ-หาย-ตุบ-ตุบ-หาย หรือไม่มีความสม่ำเสมอเลย ข้อมูลนี้จะช่วยการวินิจฉัยโรคได้มาก
ส่วนความแรง ให้สังเกตแค่ว่าความแรงมันเท่ากันหรือไม่หรือเบาๆ แรงๆ
ด้วยข้อมูลอัตราเร็ว จังหวะและความแรง จะช่วยติดตามโรคได้มาก
4. ชีพจรแนะนำจับด้วยมือ ค่าที่อ่านได้จากเครื่องวัดความดันจะเชื่อถือได้เมื่อความแรงเพียงพอและจังหวะสม่ำเสมอเท่านั้นครับ
5. เราสังเกตการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงเป็นสำคัญในการป่วยเฉียบพลัน หรือเปลี่ยนจากเป็นจังหวะสม่ำเสมอกลายเป็นไม่สม่ำเสมอเป็นต้น ตัวเลขที่บอกว่าอันตรายแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นกับพื้นฐานชีพจรเดิมขณะปรกติ อายุ เพศ แต่ผมจะบอกค่าคร่าวๆโดยทั่วไปแล้วกัน ที่ต้องระวังตั้งแต่ 120 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป และเต้นเร็วอย่างต่อเนื่อง ส่วนเต้นช้าแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันครับ แต่ถ้าต่ำกว่า 40 ครั้งต่อนาทีก็ต้องระวังแล้ว
6. ชีพจรเป็นตัวจับการเปลี่ยนแปลงที่ไวมาก มีความแปรปรวนสูง การวัดให้ใจเย็นๆและติดตามดูบางครั้งอัตราเร็วที่นาทีที่ศูนย์ กับติดตามไปอีกห้านาทีก็ต่างกันมากเลย บางคนมีเครื่องที่ติดตามชีพจรแบบเรียลไทม์ เช่น เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว จะตกใจกับค่าที่ขึ้นลงตลอดเวลา ก็เพราะหัวใจเราเต้นไม่เท่ากันทุกนาทีนะครับ ดูการเปลี่ยนแปลงเป็นหลัก
7. การบันทึกการเปลี่ยนแปลงชีพจรเป็นสิ่งสำคัญหากจะเลือกใช้การจับชีพจร เพราะไม่สามารถตัดสินได้จากค่าเดียวเลย เขียนกราฟได้จะชัดเลยครับว่าแนวโน้มช้าหรือเร็ว หรือเต้นผิดจังหวะตลอด
8. หลายคนคลำชีพจรมากกว่าหนึ่งที่แล้วแรงไม่เท่ากัน หรือเต้นไม่พร้อมกัน เช่นคลำซ้ายเบากว่าขวา หรือขาเต้นช้ากว่าแขนมาก หรือเต้นสองจังหวะ ให้นำข้อมูลนี้ไปบอกแพทย์ด้วยนะครับ มีความสำคัญมากในการวินิจฉัยโรคหลอดเลือด
9. กลุ่มคนบางกลุ่มอาจไม่มีชีพจรได้ เช่นกลุ่มคนที่ติดเครื่องช่วยการบีบตัวหัวใจ หลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน ผ่าตัดบายพาส แต่ถ้าจับแล้วไม่มีชีพจร ตัวเย็น นิ่งๆ แข็งๆ อันนั้นเสียชีวิต !!!
ตอนต่อไปเป็นเรื่องที่ยากที่สุดคือ อัตราการหายใจ เพราะว่า สังเกตเองไม่ได้ครับต้องมีผู้ช่วยเหลือคอยสังเกตให้ กับ ซีรี่ส์สุดท้ายของ operation vital sign

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น