25 กรกฎาคม 2561

operation vital sign 2

episode 2 วัดความดัน
การติดตามคนไข้ด้วยระดับความดันนั้นจะสำคัญกับการรักษาในโรงพยาบาล หากคุณหมอไม่แน่ในว่าจะรักษาที่บ้านได้ก็จะให้รักษาในโรงพยาบาล การวัดความดันจึงใช้กับการติดตามที่บ้านได้ในบางกรณีเท่านั้น แต่ถ้าค่าความดันต่ำลงมากและคนไข้ดูแย่มาก กระสับกระส่ายและเหนื่อย ควรพามาโรงพยาบาล
1. การวัดความดันเพื่อวินิจฉัยและติดตามโรคความดันโลหิตสูง ต้องทำในขณะที่ร่างกายไม่ได้เจ็บป่วยด้วยโรคปัจจุบันรุนแรง เช่นหากปวดฟันมาก ความดันโลหิตก็ขึ้นสูงได้ และหากขณะป่วยโรคปัจจุบันรุนแรงต้องติดตามผลเสมอว่าตกลงความดันสูงจริง หรือสูงจากความเจ็บป่วย
2. การวัดความดัน พักนิ่งๆสัก 10-15 นาที ตอนเช้าๆดีที่สุด นั่งบนเก้าอี้พิงพนักหรือกำแพง เท้าสองข้างวางราบบนพื้น แขนข้างที่จะวัดความดันวางบนเท้าแขนเก้าอี้หรือวางบนโต๊ะ ห้ามขาลอย ห้ามยกแขน แล้วนำเครื่องมาวัดรอจนเครื่องอ่านเสร็จ ห้ามพูดคุย ไม่ยุกยิก (ข้อสองนี้ ขอบังคับแบบทหารนะครับ)
3. จดมาให้หมดทั้งค่า systolic, diastolic และ pulse ระบุด้วยว่าค่าใดเป็นค่าใด ค่าที่จะสับสนมากคือค่าชีพจรกับค่าความดันโลหิตตัวล่าง ค่ามันใกล้กันมากแถมตำแหน่งก็ใกล้กันอีก ส่วนใหญ่เราจะจำแต่ค่าตัวบน systolic ...เอาใหม่นะครับ จูนๆๆ
4. วัดวันละสองครั้งก็พอ เช้าเย็นเวลาจะวินิจฉัย ส่วนกรณีติดตามผลอาจจะวัดวันละครั้ง หรือสองสามวันครั้งก็ได้ ในกรณีคุณหมอสงสัยความดันแบบแปลกๆก็จะสั่งให้วัดเพิ่มเติม ไปหาอ่านเรื่องความดันแบบแปลกๆได้จากเรื่อง นังซูซี่ นะครับ
ประเด็นคือวัดถูกต้อง มากกว่าวัดบ่อยๆครับ
5. จะสังเกตว่าการวัดเพื่อวินิจฉัยและติดตามโรคความดันโลหิตสูงนั้นจะใช้ท่านั่งเป็นหลัก แต่หากวัดที่บ้าน ติดตามคนไข้ที่นั่งไม่ไหวจะใช้ท่านอนได้ไหม ก็บอกว่าได้ครับแต่ใช้ติดตามในกรณีนั้นๆ เท่านั้น ไม่ได้ใช้เพื่อวินิจฉัยและรักษาความดันโลหิตสูง และอย่าลืมว่าเราก็ใช้ค่าการเปลี่ยนแปลงของความดันในการติดตามเช่นกัน
เช่นติดตามไปแล้วค่าความดันลดลงเรื่อยๆ หรือติดตามแล้วสูงมากขึ้นเรื่อยๆ
6. ค่าความดันที่บอกว่าอันตราย ไม่มีตัวเลขชัดเจนขึ้นกับแต่ละคนแต่ละโรคแต่ละภาวะ และการวินิจฉัยความดันโลหิตสูงแบบอันตรายฉุกเฉินจะต้องมีอาการจากอวัยวะเสียหน้าที่เสมอ เช่น สับสน ซึมลง ไตวาย หัวใจวายหรือ หลอดเลือดแดงโป่งพอง และส่วนมากมักจะสูงปลอม เช่น ปวด ป่วย วัดผิด เครียด
ส่วนความดันโลหิตที่ต่ำมากๆจนเกิดปัญหา ก็ต้องร่วมกับอาการเช่นกันครับ เช่นหน้ามืด วูบ
7. แต่ถ้าจะประมาณค่าที่ต้องระวังๆ เอาไว้ ในภาพทั่วๆไป ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคนะครับ แค่ระวังและต้องไปพบแพทย์ คือค่าความดันที่ต่ำกว่า 90/60 ครับ ถ้ามีข้อสงสัยไม่แน่ใจ ให้ไปหาหมอครับ เอาไว้เป็นแนวทางเท่านั้นนะครับ
8. การวัดความดันที่บ้านจะช่วยแยกภาวะความดันโลหิตสองอย่างออกจากกันได้ และปรับการรักษาอย่างแม่นยำมากขึ้น
8.1 วัดที่โรงพยาบาลสูงแต่มาวัดที่บ้านไม่สูงขนาดนี้ ถ้าตรวจร่างกายไม่พบความเสียหายจากความดัน ก็จะเรียกว่า white coat effect หรือกลัวหมอ แต่ถ้าเป็นความดันโลหิตสูงแน่ๆแล้ว การไปวัดที่โรงพยาบาลความดันจะสูงกว่าที่บ้าน (ตามคำจำกัดความมีรายละเอียดมากกว่านี้นะครับ) จะทำให้เราปรับยาผิดพลาด white coat hypertension (ต่างจาก white coat effect คือ อันนี้ต้องเป็นโรคความดันโลหิตสูง ส่วน White coat effect เกิดได้ทั้งคนที่ความดันปรกติและความดันโลหิตสูง)
8.2 วัดที่บ้านสูง แต่วัดที่โรงพยาบาลไม่สูงขนาดนั้น หรือปรกติเลย เรียกว่า Masked Hypertension อันนี้สำคัญเพราะจะมีผลต่ออันตรายจากโรคความดันได้ ส่วนมากเกิดจากการกินยาไม่สม่ำเสมอ อัดยามาก่อนหาหมอเป็นต้น มีบางส่วนที่ความดันโลหิตสูงตอนเช้าๆ อยู่บ้านก็มี การวัดความดันที่บ้านจะตัดปัญหานี้ได้
9. อย่าลืมว่าขั้นตอนการวัดสำคัญมาก
การเลือกขนาด cuff คือ เจ้าแผ่นลูกโป่งที่พองลมให้เหมาะสมกับร่างกายสำคัญ cuff เด็ก cuff ผู้ใหญ่ cuff แขนใหญ่ cuff แขนน้อย cuff ขา คุณผู้ชายพ่อบ้านใจกล้าต้องแยกให้ถูกระหว่างแขนกวางน้อยกับขาฮิปโปนะครับ
ท่าทางการวัด การอ่านค่า ถ้าทั้งหมดถูกต้องการวินิจฉัยจะแม่นยำ การจัดการจะได้ประโยชน์สูงสุด
** ความดันสูงซ่อนเร้น วัดให้เป็นก็รอดตัว
หลงลุงหมอเมามัว เสร็จทั้งตัวโดนทั้งใจ **

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น