30 กรกฎาคม 2561

Brucella

แบร๊ะๆๆ แอ๊ะๆๆ .. น้องเคยเห็นแพะหรือเปล่า แพะมันตัวโตไม่เบา มีแท่งยาวๆเรียกว่าเขา มีหนวดยาวๆเรียกว่าเครา มีหูมีตา หางสั้น
โรคติดเชื้อจากสัตว์อีกชนิดหนึ่ง เรามาดูตัวอย่างคนไข้จริงกันนะครับ
ผู้ป่วยเพศชายอายุ 48 ปี มีอาการไข้สูงๆต่ำๆ เป็นทุกวันติดต่อกันมา 10 วันแล้ว เวลามีไข้ไม่ได้อาการแย่มาก ไม่มีอาการหนาวสั่น มีอาการปวดศีรษะร่วมกับอาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ไม่มีอาการอย่างอื่นเลย กินอาหารได้ตามปกติ ใช้ชีวิตได้ตามเดิม ผู้ป่วยไปรับการรักษาได้รับยาลดไข้และยาลดปวดต้านการอักเสบมาสามวัน อาการไม่ดีขึ้น ตรวจร่างกายปรกติดี ไม่มีผื่น ไม่มีต่อมน้ำเหลืองโต ตับม้ามไม่โต
เจอแบบนี้หมอก็มึนเหมือนกันนะครับ เรียกว่า ประวัติที่บ่งชี้ถึงระบบอวัยวะใดๆที่ติดเชื้อไม่ชัดเจนเอาเสียเลย อาจไม่ใช่โรคติดเชื้อหรือยังซักประวัติไม่ครบถ้วนพอ
ผู้ป่วยให้ประวัติว่าทำงานอาชีพเกษตรกร เลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม เมื่อสามสัปดาห์ก่อนเดินเท้าเปล่าในคอกสัตว์ โดนหินบาดเป็นแผลยาวประมาณสองเซนติเมตร ไม่ลึก ไปทำแผลและรักษาจนแผลหายดีแล้ว และฟาร์มที่เขาทำคือฟาร์มแพะ เพื่อขายนมแพะ
เมื่อได้ประวัติแบบนี้เราต้องคิดถึงการติดเชื้อจากดินน้ำจากสัตว์มากขึ้น ผู้ป่วยรายนี้ได้รับการตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อ Brucella ผลออกมาเป็นบวกและผลเพาะเชื้อในกระแสเลือด ขึ้นเป็นเชื้อ Brucella (นำเชื้อจากจานเพาะเชื้อมาย้อมดูพบแบคทีเรียติดสีแดงตัวสั้นๆ เรียก gram negative coccobacilii)
หนึ่งในการติดเชื้อจากปศุสัตว์คือ Brucella มักจะพบในสัตว์เลี้ยงแพะ แกะ และอาจพบในวัว ควาย หมู ได้เช่นกัน เชื้อกลุ่มนี้สามารถแพร่เข้าสู่ร่างกายโดยไปสัมผัสดินน้ำที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งจากสัตว์ หรือกินเนื้อปรุงไม่สุก ดื่มนมที่ไม่สะอาด โอกาสติดเชื้อจากคนสู่คนน้อยมาก ยกเว้นคุณจะเป็นแพะ
ในดินน้ำที่ปนเปื้อนหรือในนมสัตว์จะอยู่ได้นานเกือบสองเดือน เชื้อตายง่ายหากโดนความร้อนดังนั้นการปรุงสุกจึงสำคัญ การสวมอุปกรณ์ป้องกันเวลาทำงานก็สำคัญ
อาการส่วนมากก็แบบนี้ครับ ไข้สูงสลับต่ำไข้หายแล้วกลับมาเป็นใหม่ และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีการอักเสบและเกิดเชื้อไปสะสมที่อวัยวะใดก็ได้ ตรวจร่างกายก็ไม่ชัดเจน ดังนั้นประวัติการทำงาน สัมผัสสัตว์ หรือกินเนื้อสัตว์ นมสัตว์ที่ไม่สุก สำคัญมาก
การวินิจฉัยก็ต้องเพาะเชื้อ แยกเชื้อจากเนื้อเยื่อ คนไข้รายนี้เพาะเชื้อขึ้นในกระแสเลือด การตรวจหาแอนติบอดีพอจะช่วยการวินิจฉัยได้ครับและปัจจุบันการตรวจหาสารพันธุกรรม กรดนิวคลีอิกของตัวเชื้อก็ตรวจจับได้เร็วเช่นกัน การรักษามาตรฐานใช้ยาสองตัวคือยาฉีด Streptomycin 0.75-1 กรัม วันละครั้ง เป็นเวลาสามสัปดาห์ร่วมกับยากิน Doxycycline 200 มิลลิกรัมต่อวันอย่างน้อย 4 -6 สัปดาห์ ทั้งนี้เพราะเชื้อสามารถกลับมาเป็นใหม่หรือแฝงในเซลล์ได้ ในคนที่เสี่ยงติดเชื้อซ้ำอาจต้องตรวจการหายและเกิดซ้ำที่สองปีหลังรักษา
(น้องๆหมอหรือผู้ที่สนใจ ให้อ่านกลไกการก่อโรคในเซลล์, opsonization, การกำจัดเชื้อ ได้จากตำรามาตรฐานทั่วไป)
คนไข้รายนี้ก็ได้รับการรักษาตามนั้นครับ อาการไข้ลดลงและอาการทั่วไปดีขึ้นตั้งแต่ให้ยาสัปดาห์แรก (ผลเพาะเชื้อมาทีหลัง แต่สงสัยมากจากประวัติและผลย้อมเชื้อจากจานเพาะเชื้อเบื้องต้น) และเขาให้คำมั่นสัญญาว่าจะใส่อุปกรณ์ปกป้องมือและเท้าให้ดีขึ้นเวลาทำงานครับ
อยากเน้นความสำคัญของการซักประวัติครับ และความรู้รอบทางคลินิก เป็นสิ่งสำคัญในวิชาชีพแพทย์ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น