ดูหนัง ดูละคร แล้วย้อนมาดูตำรา
ในละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ตอนที่คุณการะเกด วิญญาณออกจากร่างและต้องเลือกว่าจะกลับไปภพใด คุณเกดสุรางค์และการะเกดสับสนในใจ แต่คนภายนอกเห็นคุณการะเกดนิ่งไป หายใจช้าๆ เรียกไม่ตื่น เขย่าก็แล้ว
แว่บคิดถึงภาวะทางระบบประสาทและสมองขึ้นมาได้ ก็มาเล่าให้ฟังเป็นน้ำจิ้มบุพเพฯ
เมื่อเราเจอผู้ป่วยที่เรียกไม่ตื่น ปลุกไม่ลุก เขย่าก็แล้ว ทำให้เจ็บตัวก็แล้ว (แค่หยิก กดเล็บก็พอ ไม่ต้องกลุ้มรุมทำร้าย) ก็จะเรียกระดับรู้ตัวเปลี่ยนไประดับ coma ซึ่งผู้ป่วยเกือบทั้งหมดต้องได้รับการช่วยเหลือโดยเฉพาะการดูแลเรื่องทางเดินหายใจ เพราะจะสูดสำลักและลิ้นอุดกั้น
น้อยกว่านี้ก็เป็น semicoma ต้องใช้การกระตุ้นให้เกิดความเจ็บปวดจึงจะรู้ตัว หลายๆท่านอาจเห็นหมอใช้มือกดกระดูกหน้าอก บีบโคนเล็บ หรือกดปุ่มกระดูก เพื่อกระตุ้นให้ตอบสนองครับ
น้อยลงมาเรียกว่า stupor คือต้องใช้การเขย่า ดึงมือให้รู้ตัวแต่ไม่ต้องเจ็บ น้อยลงมาอีกเรียกว่า drowsiness คือต้องเรียก ใข้เสียงเรียกจึงรู้สึก และสุดท้ายคือ ตื่นดีรู้ตัวดี
ทั้งห้าระดับนี้เป็นการแบ่งระดับความรู้สึกจากไม่รู้สึกลงไปถึงรู้ตัวดี
แล้วการะเกดล่ะ อยู่ในระดับใด ต้องเรียกว่า coma เลยครับ แต่ !! จะเรียกโคมาก็ไม่ถูกนัก เพราะว่าคุณการะเกดยังสามารถหายใจได้ดี เพียงแต่ไม่ตอบสนองเท่านั้น
ก็จะเจออีกสองภาวะ คือ ภาวะผัก (vegetative state) และภาวะล็อกอิน ภาษาอังกฤษคือ lock-in นะครับ ไม่ใช่ login (สมัยก่อนแอดเชยมาก อ่าน โลจิ้น)
ภาวะผัก หมายถึงการสูญเสียหน้าที่การทำงานของสมองส่วน cerebrum สมองชั้นสูงที่ควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก การสื่อสาร ความสามารถแห่งมนุษย์ ดังนั้นคนที่อยู่ในภาวะนี้ก็จะไม่มีความรู้ตัว ไม่ตอบสนอง นอนนิ่งๆ แต่ว่าหน้าที่การทำงานของพื้นฐานสิ่งมีชีวิตเช่น หายใจ ไอ กลืนน้ำลาย ย่อยอาหาร ขับถ่าย และหัวใจยังเต้นได้ปกติ
แสดงว่าการทำงานของก้านสมองยังดี ระบบการควบคุมการรู้ตัวยังดีแต่ตอบสนองไม่ได้ เพราะขยับกล้ามเนื้อไม่ได้
ภาวะผักนี้มักจะเกิดหลังความเสียหายของสมอง ติดเชื้อ อักเสบ อุบัติเหตุ และอาจกลับคืนได้บ้างขึ้นกับเวลา ในสี่สัปดาห์แรกพอมีลุ้นห้าสิบๆ แต่ถ้าเกินปีแล้วเรียกภาวะผักถาวร permanent vegetative state อันนี้จะพยากรณ์โรคแย่มาก
และในทางกฎหมาย ภาวะผัก คือเป็นบุคคลไร้ความสามารถ ผู้อนุบาลต้องขอร้องศาลประกาศบุคคลไร้ความสามารถและแต่งตั้งผู้อนุบาลเพื่อดำเนินการทางกฎหมายแทน
ภาวะ lock-in คือภาวะที่การทำงานของก้านสมองส่วน pons ลงไปถึงไขสันหลังเสียหาย (ก้านสมองแบ่งคร่าวๆสามส่วน จากบนลงล่างคือ midbrain -- pons -- medulla oblongata) ความเสียหายนั้นเกิดที่ก้านสมอง ทำให้ตัดการสื่อสารจากสมองลงไปไขสันหลังด้านล่างทั้งหมด ส่วนล่างจากส่วนที่เสียหายก็สูญเสียการทำงานไปด้วย
เมื่อก้านสมองส่วนนี้เสียหาย ผู้ป่วยจะขยับตัวไม่ได้ กลืนอาหารไม่ได้ พูดไม่ได้ หายใจเองลำบากมาก แต่ว่าเขาจะรู้ตัวและสื่อสารกับคนอื่นๆได้
แล้วสื่อสารอย่างไร ในเมื่อขยับไม่ได้ พูดไม่ได้ เจาะคอหรือใส่ท่อช่วยหายใจ
คำตอบ กลอกตาและกระพริบตาครับ บางคนได้แต่กลอกตาขึ้นลง ไม่สามารถกลอกตาไปด้านข้างได้ เพราะการกลอกตาและกระพริบตาควบคุมโดยก้านสมองส่วน midbrain ที่ยังไม่เสียหายนั่นเอง เช่น ถ้าหิวให้กระพริบตาสามครั้ง คนไข้จะพอทำได้
สาเหตุมักเกิดจากโรคของหลอดเลือดที่ก้านสมอง ไม่ว่าเป็น หลอดเลือดสมองตีบคือขาดเลือด หรือ เลือดออกในระดับ pons
ไม่ว่าเกิดภาวะผักหรือ lock in โดยมากผู้ป่วยจะเสียชีวิตจากผลแทรกซ้อน อาทิเช่นแผลกดทับ การสูดสำลัก ปอดอักเสบ ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ การดูแลประคับประคองจึงสำคัญมาก
แต่ว่าในวันพรุ่งนี้ แนวทางการรักษาทั้งโลกคงต้องเปลี่ยนเพราะมีหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจนว่า มนต์กฤษณะกาลี สามารถรักษาภาวะผักของแม่หญิงการะเกดได้ชะงักงันยิ่งนัก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น