01 เมษายน 2561

โรคหัวใจกับนักกีฬา

ต่อเนื่องจาก commotio cordis อีกสักเล็กน้อยนะครับ เกี่ยวกับภาวะหัวใจวายและเสียชีวิตเฉียบพลันจากหัวใจ ท่านคงได้ยินข่าวมามากมาย เล่นๆอยู่ก็ล้มพับ หัวใจหยุดเต้นเสียชีวิต ทั้งๆที่ไม่ได้โดนกระแทกใดๆ ล่าสุดคือ เดวิด อัสโตรี่ นักเตะชาวอิตาเลียน กัปตันสโมสรฟิออเรนตินา
หลายท่านก็งง นักกีฬาอาชีพนี่นะ แข็งแรงอย่างกับม้า จะเป็นโรคหัวใจได้อย่างไร
มีเหตุการณ์หลายอย่าง ไม่ว่าหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจขยายขนาดจนเมื่อบีบตัวมันก็เลยตีบตัวเอง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือแม้แต่ commotio cordis
รายงานการศึกษาในงานประชุมแพทย์โรคหัวใจอเมริกาที่ผ่านมาในเดือนกุมภาพันธ์ มีอยู่ชิ้นหนึ่งได้อธิบายปรากฏการณ์นี้ไว้อย่างน่าสนใจ
เดอม็อต ฟรีแลน จากศูนย์กีฬาคลีฟแลนด์คลินิก ได้ทำการศึกษาการทำงานของหัวใจในอดีตนักอเมริกันฟุตบอล 460 คน เทียบกับกลุ่มคนปกติที่มีพื้นเพและลักษณะเหมือนนักอเมริกันฟุตบอลที่เข้ารับการศึกษา จำนวนคนปกติ 925 คน
เมื่อปรับตัวแปรเรื่อง อายุ ความดันโลหิต น้ำหนักตัว ฟีแลนพบว่า กลุ่มอดีตนักอเมริกันฟุตบอลมีโรค atrial fibrillation มากกว่าคนปกติ 5.5 เท่า
และมักจะไม่มีอาการ เพราะกลุ่มนักกีฬาอาชีพนั้น เขาออกกำลังประจำ ชีพจรปกติเขาช้าอยู่แล้ว เมื่อเขาหัวใจเต้นผิดจังหวะ ต้องสูงกว่าเดิมมากๆจึงจะรู้สึกว่ามีอาการ นั่นคืออาจสายเกินช่วยเหลือแล้ว
โจนาธาน คิม จาก Emory University และแพทย์ประจำทีมอเมริกันฟุตบอล แอตแลนต้า ฟอลคอน ได้ทำการศึกษาวัดการทำงานของหัวใจในกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยปีที่หนึ่งที่ได้รับการคัดเลือกเข้าทีมอเมริกันฟุตบอลของมหาวิทยาลัย จำนวน 144 คน เทียบกับนักศึกษาที่ไม่ได้เข้าทีม 36 คน
เมื่อผ่านฤดูกาลแข่งขันไปหนึ่งฤดูกาล พบว่ากลุ่มนักกีฬามีส่วนโคนของหลอดเลือดแดงใหญ่ (aortic root) มีขนาดโป่งมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เป็นนักกีฬา และพบว่ามีหลอดเลือดแดงแข็งมากขึ้น ผนังหัวใจหนาขึ้น แม้ว่าจะยังไม่เกิดโรคหัวใจแต่การตรวจพบแบบนี้ก็มีแนวโน้มที่ไม่ดีต่อการเกิดโรคหัวใจในอนาคต
ทั้งสองการศึกษาพอสรุปได้ว่า หากมีการออกกำลังกายแบบ--สุดขีด--อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางหัวใจและหลอดเลือดไปในทางที่แย่ลงได้ ทั้งๆที่การออกกำลังกายปรกติเป็นผลดีต่อโรคหัวใจ
นักกีฬาอาชีพหรือนักกีฬา อเมริกันฟุตบอลมหาวิทยาลัยนั้น มีการฝึกซ้อมที่มหาหินมากๆ
ดังนั้นอาจจะต้องระวังภาวะหัวใจในนักกีฬามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่เพิ่งเข้าทีมมาใหม่ๆ
แต่การศึกษาแค่นี้ยังไม่เพียงพอครับ ยังต้องทำการศึกษาเรื่องกลไกการเกิดโรคและอุบัติการณ์ที่แท้จริง รวมทั้งหากมีการตรวจคัดกรองมากขึ้น การช่วยชีวิตเร็วขึ้นจะลดโอกาสเกิดหรือช่วยชีวิตได้มากขึ้นไหม
***ห้ามไปตีความว่าออกกำลังแล้วจะอันตรายเด็ดขาด***
ผมยังสนับสนุนการออกกำลังต่อไปนะครับ และเกือบสามทุ่มนี่ก็ออกได้นะ คู่ผสมชายหญิง เผาผลาญแคลอรี่ได้พอควร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น