29 เมษายน 2561

จากงานประชุมราชวิทยาลัยอายุรแพทย์สู่ประชาชน 6

จากงานประชุมราชวิทยาลัยอายุรแพทย์สู่ประชาชน 6
1. โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นโรคที่ทำให้เกิดความพิการและความทุกข์ทรมาน ในอดีตผู้ป่วยโรคนี้มักจะพิการ แต่ปัจจุบันเราสามารถป้องกันความพิการนั้นได้ โดยเริ่มรักษาตั้งแต่แรกๆและต่อเนื่อง
2. การรักษาที่สำคัญคือการใช้ยาเพื่อชลอและปรับแต่งตัวโรค ที่เรียกว่า ดีมาร์ด (DMARDs) ซึ่งต้องใช้ในระยะยาวตลอดชีวิต จะหยุดยาชั่วคราวหรือถาวรเมื่อพบผลเสียจากยาที่มากกว่าประโยชน์แห่งการรักษา
3. การรักษาเพื่อลดปวดหรือการอักเสบในระยะสั้น แม้จะทำให้ความทุกข์ทรมานดีขึ้น แต่ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ถาวร เช่นยาลดการอักเสบ NSAIDs, สเตียรอยด์ระยะสั้นๆ
4. ยาหลักที่ใช้คือยาเมโทรเทร็กเซต (methotrexate) ราคาถูก ประสิทธิภาพดี เวลากินกินแค่สัปดาห์ละหนึ่งถึงสองครั้งเท่านั้น ถ้ากินผิดเป็นกินทุกวันจะเกิดผลข้างเคียงรุนแรง จะมีการปรับยาขึ้นลงตามระยะของโรค และสอนสังเกตผลเสียที่คนไข้สังเกตได้คือ เยื่อบุปากอักเสบ แสบ เป็นแผล
5. ส่วนผลเสียอื่นๆ คุณหมอจะแนะนำผลเสียและติดตามผล เช่น การเกิดพังผืดในร่างกาย (เกิดน้อยนะครับ) การติดเชื้อ เม็ดเลือดขาวต่ำ ขาดวิตามินบี12 ผลเสียของเมโทรเทร็กเซตที่ใช้ในข้ออักเสบรูมาตอยด์จะเป็นผลระยะยาวเพราะใช้ยาไม่มากแต่นาน
6. ยาอีกสองตัวที่ใช้มากคือ ยารักษามาเลเรีย Chloroquine และ Hydroxychloroquine ซึ่งเป็นยาที่ปลอดภัยมาก แม้แต่เวลาตั้งครรภ์ แต่ประสิทธิภาพก็ไม่เท่าตัวอื่น ข้อควรระวังที่สำคัญคืออาจมีการมองเห็นที่ผิดปกติ ควรได้รับการตรวจตาอย่างน้อยปีละครั้งในขณะที่ได้ยา
7. sulfasalazine หรือบางที่ใข้ salazopyrin ก็เป็นยาอีกชนิดที่ราคาไม่แพง ใช้กันแพร่หลาย สามารถควบคุมโรคได้ดีพอควร ข้อควรระวังที่สำคัญคืออาจแพ้ยาได้เพราะเป็นยากลุ่มซัลฟา อาจกระตุ้นเม็ดเลือดแดงแตกในผู้ป่วย G-6-PD และที่สำคัญมากคืออาจมีคลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว แก้ง่ายมากโดยค่อยๆปรับขนาด อย่าให้ครั้งเดียวทีละมากๆ
8. ยาที่ถัดไปจากนี้จะเป็นยาที่ใช้ในรายที่ควบคุมโรคไม่ได้ เพราะราคาแพง ผลข้างเคียงมาก คุณหมอจะแจกแจงผลเสีย ข้อควรระวังอย่างละเอียดเลย เช่น leflunomide, eternacept, anakinra, rituximab
9. เนื่องจากต้องรักษายาวนานมาก เพื่อป้องกันโรคกำเริบ ป้องกันความพิการจากข้อ และป้องกันผลข้างเคียงจากการใช้ยา ไม่ควรหยุดยาเองปรับยาเอง
10. การประเมินโรคในแต่ละครั้งเพื่อปรับยา เราจะใช้การดำเนินโรค (disease activity) มีทั้งการสอบถาม การตรวจร่างกายทุกข้อ และผลเลือด นิยมใช้ระบบคะแนนเรียกว่า DAS28 ไม่ใช้แค่อาการปวดลดลงเท่านั้น ***สำคัญมากนะครับ*** ในรายที่จะหยุดยาเพราะเหตุอื่นที่ไม่จำเป็นต้องคุยกับหมออย่างดี และหมอก็จะประเมินอย่างละเอียด แต่เราไม่แนะนำหยุดยา
11. โรคนี้มักเกิดกับผู้หญิง ดังนั้นหากวางแผนจะตั้งครรภ์ให้รีบปรึกษาแพทย์ และเมื่อทราบผลว่าตั้งครรภ์ต้องแจ้งเช่นกัน ถ้าเป็นไปได้ควรรักษาให้โรคสงบและใช้ยาน้อยๆก่อนตั้งครรภ์ ยาที่อาจให้ได้ขณะตั้งครรภ์คือ sulfasalasine, hydroxychloroquine, NSAIDs, steroid ซึ่งถ้าควบคุมได้ดีก่อนตั้งครรภ์ยาแค่นี้ก็พอ และในช่วงตั้งครรภ์โรคมักจะดี
12. ต้องติดตามหลังคลอดเสมอ บางคนปรับยาลงหรือบางคนกลัวมากหยุดยา เวลาหลังคลอดอาจกลับมากำเริบอีก
13. ปัจจุบันเราใข้เกณฑ์การวินิจฉัย EULAR 2010 ที่ไม่ได้ใช้ผลเลือดอย่างเดียว ห้ามตรวจแค่ rheumatoid factor ได้ผลอย่างไรแล้วแปลตามนั้น
14. สิ่งที่ต้องระวังเวลาเรารักษาแล้วดีขึ้น คนไข้จะดีใจมาก เดินเหินทำงานสะดวก สิ่งที่ตามมาบ่อยที่สุดคือ ล้มแล้วกระดูกหัก เพราะรูมาตอยด์เพิ่มการเกิดกระดูกพรุน บางคนใช้ยาชุดยาสเตียรอยด์ยิ่งเสี่ยงมากขึ้นอีก
15. ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ต้องรักษาอาการให้ไม่ปวด ควบคุมโรคไม่ให้ข้อผิดรูปพิการ ลดการกำเริบในอนาคต และ ต้องไม่ให้เกิดผลอันตรายจากการใช้ยา จึงจะสมบูรณ์ครับ
ขอขอบคุณการบรรยายของ อ.ปารวี ชีวะอิสระกุล และ อ.พันธุ์จง หาญวิวัฒนกุล
นำมาฝาก
แนวทางของไทยปี 2557
http://www.thairheumatology.org/…/%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8…/
ทบทวน รูมาตอยด์
https://m.facebook.com/medicine4layman/posts/1760574307591928
คลอโรควินกับรูมาตอยด์
http://medicine4layman.blogspot.com/2018/02/chloroquine.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น