28 เมษายน 2561

จากงานประชุมราชวิทยาลัยอายุรแพทย์สู่ประชาชน 5

จากงานประชุมราชวิทยาลัยอายุรแพทย์สู่ประชาชน 5
1. ปัญหาเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ที่พบบ่อยคือ ไม่เป็นเบาหวานแต่พอตั้งครรภ์แล้วเป็น อีกอย่างคือเป็นเบาหวานอยู่แล้วและตั้งครรภ์
2. การตรวจเบาหวานในคนท้องทำได้สองวิธี วิธีแรกใข้กันมานาน คือ สองขั้นตอน ขั้นตอนแรก กินน้ำตาลกลูโคส 50 กรัมแล้วตรวจน้ำตาลหลังกินหนึ่งชั่วโมง ถ้าเกิน 140 ให้ไปทำขั้นตอนที่สอง งดอาหารหกถึงแปดชั่วโมง มาเจาะเลือด แล้วกินน้ำตาลกลูโคส 100 กรัม หลังจากนั้นเจาะเลือดอีก หนึ่ง สอง และสามชั่วโมง แล้วค่อยไปกินอาหาร ค่า 95,180,155,140 เกินสองค่า เป็นเบาหวาน
3. วิธีที่สอง งดอาหารมาหกถึงแปดชั่วโมง เจาะเลือด แล้วกินน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม เจาะเลือดอีกสองครั้งหลังกินน้ำตาลที่หนึ่งและสองชั่วโมง ค่า 92,180,153 เกินค่าเดียวเป็นเบาหวานเลย แบบนี้จะวินิจฉัยเบาหวานได้มากกว่า
4. ถ้าเสี่ยงก็ตรวจเลยเมื่อตั้งครรภ์เช่น ประวัติเบาหวานในครอบครัว ลูกคนแรกเป็นเบาหวาน ลูกคนแรกน้ำหนักมาก แต่ถ้าไม่เสี่ยงตรวจที่ 24-28 สัปดาห์
5. ถ้าเป็นเบาหวานต้องตรวจน้ำตาลด้วยตัวเองเสมอ การตรวจจะตรวจสลับๆกันไปทั้ง ก่อนอาหารและหลังอาหารสองชั่วโมง (บางที่ก็นับหนึ่งชั่วโมง) ดังนั้นต้องหัดเจาะเลือด เตรียมเงินซื้อเครื่องเจาะปลายนิ้ว
6. ค่าที่ยอมรับคือ ก่อนอาหาร 90-95 หลังอาหารหนึ่งชั่วโมงไม่เกิน 140 หรือหลังอาหารสองชั่วโมงไม่เกิน 120 มื้อที่จะมีปีญหามากสุดคือ มื้อเช้า
7. สัดส่วนอาหารจะกินคาร์บน้อยกว่าคนปกติ เล็กน้อย เพิ่มโปรตีนมากขึ้น เรื่องการจัดอาหารต้องคุยกับหมอเป็นกรณีๆไป เพราะแต่ละคนมีรูปแบบและเวลาการกินต่างกัน
8. ถ้าหากอาหารคุมไม่ได้ ก็ใช้ยา ยาที่นิยมใช้คือ insulin เพราะมีผลต่อแม่และเด็กน้อย ออกฤทธิ์เร็ว หมดฤทธิ์เร็ว ยากินก็ใข้ได้ทั้ง metformin และ glibenclamide แต่ข้อมูลน้อยกว่าและไม่ปลอดภัยเท่า insulin
9. จะฉีดยาแบบวันละครั้ง วันละสองครั้ง หรือวันละสามสี่ครั้ง ขึ้นกับค่าน้ำตาลที่บันทึกในข้อหก และ ความสะดวกของแต่ละคน แต่เมื่อมีการฉีดอินซูลิน ก็ต้องกินอาหารสม่ำเสมอ เจาะเลือดติดตาม และรู้จักอาการน้ำตาลต่ำ
10. ความสมดุลของพลังงานเป็นสิ่งสำคัญ อย่ากลัวจนไม่กินอะไร เพราะเด็กจะไม่โต อย่าละเลยจนน้ำตาลสูงมาก กินให้พอดีและถ้าเกินก็ใช้อินซูลิน
11. ผลข้างเคียงจากเบาหวานในแม่จะน้อยมาก เพราะเป็นเบาหวานในช่วงสั้นๆ แต่จะเพิ่มโอกาสการเป็นเบาหวานในอนาคต
12. ผลเสียต่อเด็กหากคุมไม่ได้ที่สำคัญคือเด็กตัวโต และ อาการน้ำตาลต่ำในทารก (เพราะน้ำตาลจากแม่ไปกระตุ้นการหลั่งอินซูลินของลูก)
เบาหวานในขณะตั้งครรภ์ควรตรวจคัดกรอง เพราะการรักษาไม่ยากและมีประโยชน์สูง
สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก ADA 2018, แนวทางเบาหวานของไทย
ขอขอบคุณการบรรยายของ อ.ชัยชาญ ดีโรจน์วงศ์ มา ณ ที่นี้ด้วยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น