25 มีนาคม 2561

การเข้าถึงการรักษา

หมอเก่ง ยาดี การศึกษาทดลองเด็ด อาจไม่ประสบความสำเร็จเสมอไป🍦🍦🍦
🍇🍇🍇กรณีศึกษาที่หนึ่ง 🍇🍇🍇
ปัญหาโรคเอดส์ของชาวแอฟริกายังเป็นสิ่งที่น่ากังวลเพราะสาธารณูปโภคพื้นฐาน การคมนาคม เศรษฐานะ แม้จะมียาที่ดีผู้สนับสนุนที่ดีแต่ถ้าเข้าถึงยายากก็ไม่สำเร็จเช่นกัน แม้นโยบาย test and treat ขององค์การอนามัยโลกจะได้รับการนำไปปฏิบัติกว้างขวางแต่ก็ยังมีอุปสรรค
กลุ่มผู้วิจัยชาวสวิส ได้ลงไปทำการศึกษาวิธีการเริ่มยาให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศเลโซโธ ประเทศในแถบนี้เขายอมรับนโยบายการเข้าไปตรวจหาเอชไอวีที่บ้าน แต่เนื่องจากหลังตรวจพบแล้วมีบางส่วนเท่านั้นที่เข้ารับการรักษา อัตราเอชไอวีจึงไม่ได้ลดลงอย่างที่ลงทุนไปตรวจถึงหมู่บ้าน (CASCADE trial, JAMA 6/3/2018)
จึงทำการศึกษาเทียบสองกลุ่ม กลุ่มแรกไปให้การตรวจที่บ้านถ้าหากผลบวก ก็นัดไปหาสถานพยาบาลใกล้ที่สุดในหนึ่งเดือน เพื่อเข้ารับการตรวจตามปรกตินัดทุกเดือน ส่วนกลุ่มที่สองถือว่าเป็นกลุ่มทดลองก็ไปให้การตรวจที่บ้านเหมือนกัน แต่ว่าเตรียมยาไปด้วย หากสมัครใจก็จ่ายยาเลยหนึ่งเดือน และนัดไปรับการบริการต่อเนื่องแต่ไม่ได้ถี่ทุกเดือน
ได้กลุ่มตัวอย่างกลุ่มละ 137 คน ส่วนมากเป็นผู้หญิง ไม่มีรายได้ จบการศึกษาพื้นฐาน เดินเป็นระยะทางพอสมควรกว่าจะไปถึงสถานบริการสาธารณสุขและประมาณ 30% สามารถเดินทางโดยรถได้ และเกือบทั้งหมดเป็นการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ
ติดตามไปพบว่า คนที่ติดตามการรักษาต่อเนื่องไปไม่น้อยกว่าสามเดือนนั่น ในกลุ่มที่ไปเริ่มยาที่บ้านมีโอกาสติดตามการรักษามากกว่ากลุ่มแรกถึง 25% ซึ่งสำคัญมากและมีนัยสำคัญทางสถิติด้วย การติดตามการรักษา treatmnet adherence ถือเป็นประเด็นสู่ความสำเร็จที่สำคัญในการรักษาเอชไอวี
ส่วนอัตราการควบคุมไวรัสเมื่อจบหนึ่งปี ก็พบว่ากลุ่มที่ไปเริ่มยาที่บ้านควบคุมไวรัสได้ดีกว่า (อาจจะเกิดจากการติดตามมากกว่าและไม่ได้นัดถี่มาก) มากกว่า 16% แต่ว่าไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
เหตุผลสำคัญคือไม่มีเวลาไปสถานพยาบาลและปฏิเสธการเข้าสถานพยาบาล การให้การรักษาเชิงรุกเพื่อหวังผลควบคุมโรคที่กำลังคุกคามน่าจะเป็นมาตรการสำคัญในอนาคต
🍓🍓🍓กรณีศึกษาที่สอง🍓🍓🍓
การควบคุมความดันโลหิตสูงของชาวผิวสีของอเมริกา (non hispanic black) ทำได้ค่อนข้างยากด้วยเรื่องของเชื้อชาติที่ควบคุมความดันยากอยู่แล้ว ยังจะมีกำแพงเรื่องการสื่อสาร การเข้ารับบริการทางการแพทย์
ทางหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐได้ทำการศึกษาว่า หากไปจัดการรักษาผู้ป่วยความดันโลหิตที่เป็นผิวสี ที่ร้านตัดผม (คนผิวสีเขาจะนิยมเข้าร้านของคนผิวสีด้วยกัน)โดยช่างตัดผมจะช่วยดำเนินการนัดให้มาพบเภสัชกร โดยมีเภสัชกรที่ได้รับการอบรมไปนัดและปรับยาให้ที่ร้านตัดผมเลย อีกกลุ่มคือให้ช่างตัดผมที่ได้รับการอบรมเรื่องการปรับชีวิตสำหรับคนไข้ความดัน ให้ความรู้และนัดคนไข้เข้าสู่ระบบการแพทย์ (NEJM 12/3/2018)
ได้คนไข้ 300 กว่าคน ร้านตัดผม 52 ร้านแบ่งครึ่งๆ พบว่าคนที่เข้ารับการศึกษาก็อายุประมาณ 55 ปี ความดันเริ่มประมาณ 150/90 (แต่ว่าที่บอกว่าไม่ได้เข้ารับการบริการทางการแพทย์มากนัก กลับพบว่า 77% ก็เข้ารับการบริการทางการแพทย์ปฐมภูมิอยู่แล้วนะ)
เมื่อติดตามไปหกเดือน ก็พบว่ากลุ่มที่เภสัชกรไปปรับยาให้เลยที่ร้าน สามารถปรับยาได้เร็วกว่า ความดันลดลงเร็วกว่า และจำนวนคนไข้ที่สามารถลดความดันลงได้นั้นมากกว่ากลุ่มได้รับคำแนะนำและนัดหมายไปพบแพทย์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ถ้านับที่ 140/90 สามารถลดลงมากกว่ากลุ่มที่นัดหมายไปพบแพทย์ถึง 3.4 เท่า แต่ถ้านับไปถึง 130/80 จะสามารถลดลงได้มากกว่าถึง 5.7 เท่า
เรียกว่า ความสะดวกและการให้บริการเชิงรุก จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาได้มากจริงๆ แม้แต่ในกลุ่มที่เข้าถึงรับการรักษาได้ง่ายอยู่แล้วก็ยังเพิ่มประโยชน์ได้
🍎🍎🍎คุณเห็นอะไรที่มากกว่า ตัวเลขสถิติและการรักษาทางยาหรือไม่🍎🍎🍎

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น