27 กุมภาพันธ์ 2561

อันตรายจากควันบุหรี่

บุหรี่อันตรายแน่ๆ แล้วซิการ์ล่ะ แล้วไปบ์ล่ะ อันตรายด้วยไหม

  ยาสูบชนิดที่มีการเผาไหม้ใบยาทั้งหลายที่เรียกว่า combustive tobacco มีงานวิจัยที่ชัดเจนล่ะว่า เพิ่มอัตราการเสียชีวิต เพิ่มมะเร็งอันเกี่ยวกับใบยา  แล้วซิการ์ล่ะ แล้วไปบ์ล่ะ ก็มีการเผาไหม้เช่นกันมันอันตรายไหม อะไรอันตรายกว่า

   ก่อนหน้านี้ เราเคยมีการศึกษาเชิงห้องทดลองที่ชัดเจนว่า เจ้าซิการ์ราคาแพงๆนี้มันไม่ได้เผาไหม้สมบูรณ์เหมือนอย่างบุหรี่มวน ทำให้สารที่ได้จากการเผาไหม้และนิโคตินไม่สูงเท่า หรือการสูบไปบ์ก็คิดแบบเดียวกัน และอีกอย่างพฤติกรรมการสูบของคนที่สูบซิการ์และไปบ์ก็ไม่เหมือนบุหรี่มวน ที่จะสูบจนหมดหรือมวนต่อมวน เว้นพวกที่ผลิตควันตลอดเวลากลุ่มนั้นคงเสี่ยงสูงอยู่แล้ว
   แต่พอติดตามข้อมูลจริงๆ ข้อมูลแบบสัมภาษณ์ครั้งต่อครั้ง เรากลับพบว่าคนที่สูบซิการ์หรือไปบ์ก็มีอัตราการเสียชีวิตสูงเหมือนกันนะ หลายๆคนก็แย้งว่า ที่อัตราการเสียชีวิตสูงเพราะส่วนมากซิการ์หรือไปบ์มันแพงและคนมีอายุสูบ คนกลุ่มนี้โรคร่วมมากอยู่แล้วทำให้อัตราการเสียชีวิตสูง

  เมื่อสัปดาห์ก่อนมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งทำในสหรัฐอเมริกา เพื่อบอกว่า บุหรี่ ซิการ์ หรือ ไปบ์ มันเสี่ยงเท่ากันไหม จากข้อมูลในห้องทดลองบอกไม่เท่ากัน แล้วความจริงล่ะ การศึกษานี้เขาเก็บข้อมูลการสูบบุหรี่ (เพราะเป็นหนึ่งในโครงการเก็บข้อมูลวิจัยอัตราการเสียชีวิตของโรคต่างๆตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ) แล้วดูอัตราการเสียชีวิตในระยะยาวเป็นสิบปี เก็บข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมด เก็บหลายๆครั้ง เมื่อต้องการดูความสัมพันธ์ของข้อมูลชุดใดก็ดึงขึ้นมาดู
   แล้วใช้วิธีการทางสถิติ ตัดทอนตัวแปรที่มารบกวน เช่น ถ้าเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆอัตราการเสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุเราก็มีวิธีการทางสถิติเพื่อเกลี่ยตัวแปรกวนเหล่านี้ หรือสูบมากสูบน้อยก็สามารถใช้วิธีการทางสถิติมาแยกคิดแยกวิเคราะห์ได้
   จะเห็นว่ามันก็ไม่ได้ตรงไปตรงมานัก มีความแปรปรวนอยู่แล้วล่ะ เพราะเก็บไปก่อนแล้วมาดึงข้อมูลทีหลัง ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อตอบคำถามเดียวแต่แรก แต่ว่าวิธีแบบนี้ก็ได้รับการยอมรับนะครับ เพราะได้ติดตามระยะยาวตามสภาพจริงๆ คนที่จะแปลผลและนำไปใช้ก็ต้องทราบข้อจำกัดด้วย

   สรุปว่าเขาคิดแยก บุหรี่ ซิการ์ ไปบ์....คิดแยกเคยสูบ(บุหรี่วัดที่ 100 มวน ส่วนซิการ์ ไปบ์วัดที่เคยใช้) ไม่เคยสูบ...ยังสูบอยู่ เลิกแล้ว...สูบทุกวัน สูบไม่ทุกวัน...เกลี่ยตัวแปรอายุด้วยสิ่งที่พบคือ

  สูบบุหรี่มวน มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุด อัตราการเกิดโรคมะเร็งจากบุหรี่มากสุด(กล่องเสียง ช่องปาก หลอดอาหาร ปอด) มากกว่า ซิการ์และมากกว่าไปบ์ (HR มากกว่า)
  กลุ่มที่ยังสูบอยู่ เสี่ยงเสียชีวิตและมะเร็งมากกว่า กลุ่มที่หยุดไปแล้ว ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้เสี่ยงมากกว่าไม่เคยสูบเลยอย่างมากๆและชัดเจน  เป็นความจริงทั้งบุหรี่ ซิการ์ ไปบ์
  กลุ่มที่สูบทุกวัน เสี่ยงมากกว่า สูบไม่ประจำทุกวัน อันนี้จะชัดเจนในบุหรี่มวน ส่วนซิการ์และไปบ์ส่วนมากคนใช้ไม่ได้ใข้ทุกวัน

   สรุปส่วนมากเป็นแบบนี้ รายละเอียดปลีกย่อยสามารถไปอ่านจากตารางได้ หรือตัวเลข Hazard ratio จะกี่เท่า ขอให้ไปอ่านเพิ่มครับ หากสนใจ  https://jamanetwork.com/journals/jamainternalmedicine/article-abstract/2672576?redirect=true

   การศึกษานี้มุ่งให้เห็นว่า combustive tobacco มีอันตรายจริงในทุกๆรูปแบบ และการเลิกก็ลดความเสี่ยงมากกว่าสูบต่อไปอย่างชัดเจน และการไม่เริ่มใช้ ไม่ยุ่งเกี่ยวคือวิธีการลดความเสี่ยงจากควันยาสูบที่ดีที่สุด

   ผมอยากย้ำครั้งที่ร้อยว่า ห้ามมายุ่งเกี่ยวกับบุหรี่และนิโคตินทุกรูปแบบ โดยเฉพาะคนยังไม่เคยใช้ เด็กเยาวชน อันนี้ต้องอย่าให้เข้ามาสัมผัส  และสำหรับคนที่ติดแล้วนั้น การเลิกทุกอย่างคือวิธีที่ดีที่สุด รวมทั้งอย่าให้หวนกลับมาใช้ใหม่

   แต่ผลการศึกษาหลายๆอัน บอกว่าหากเราค่อยๆเลิกหมดทุกอย่าง อัตราการเสียชีวิตจากควันบุหรี่มันจะแซงหน้าอัตราการเลิกสำเร็จ จึงมีแนวคิดการใช้ non combustive tobacco หรือ potential reduced exposured products หรือผลิตภัณฑ์ลดความเสี่ยง ...ย้ำอีกแล้ว ลดลงนะ ไม่ใช้หมดไปหรือเอามาแทนที่ และ ลดความเสี่ยงก็ห้ามเริ่มใช้เพราะคิดว่าปลอดภัยกว่า
  American Cancer Society ก็สนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในการลดอันตรายจากควันบุหรี่ ในกลุ่มที่เลิกไม่ได้จริงๆ...ย้ำอีกรอบ ต้องเลิกทั้งหมดก่อน และยังต้องเลิกต่อไปแม้จะใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้แล้วก็ตาม... เพื่อช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งจากยาสูบที่คร่าชีวิตคนมหาศาลต่อปี ยังไม่รวมโรคหลอดเลือด โรคถุงลมโป่งพอง และควันบุหรี่มือสองอีก 

   Stop Tobacco...Death Fall, Quit All...Better World  อันนี้คำขวัญของผมเอง ว่าจะส่งไปองค์การอนามัยโลกแล้วล่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น