02 กุมภาพันธ์ 2561

ปรอทวัดไข้

เรามาฟังความเป็นมาของปรอทวัดไข้กัน

  เรียกให้ถูกคือ เทอร์โมมิเตอร์ เพื่อใช้วัดอุณหภูมิกาย เพราะว่าคำจำกัดความของไข้หรืออุณหภูมิกายต่ำก็แล้วแต่ ก็ต้องอาศัยตัวเลขอุณหภูมิ ในอดีตก่อนปี 1600 นั้นเครื่องมือวัดไข้ของมนุษยชาติเราคือ ..มือ..  ใครเป็นไข้ไหนเอามือไปแปะหน้าผาก ถ้าคนที่เอามือไปแปะ"รู้สึก"ว่าร้อน เจ้าของหน้าผากก็ได้ชื่อว่า "มีไข้" ทันที ดูง่ายดีเนอะ
   แต่ว่าความรับสัมผัสของมือมันไม่เที่ยงตรง ใครจำการทดลองสมัยเด็กๆได้ นำอ่างน้ำมาสามใบ น้ำร้อนน้ำเย็น และน้ำอุณหภูมิห้อง แรกเริ่มเอามือจุ่มน้ำร้อนและน้ำเย็นข้างละมือ แล้วเอามาจุ่มรวมกันในอ่างอุณภูมิปรกติ มือเราก็จะแปลกลับทันทีจากร้อนเป็นเย็น จากเย็นเป็นร้อน เรียกว่า การแปลผลอุณภูมิของมนุษย์ใช้การเปรียบเทียบ ไม่แม่นยำ  

  งั้นต้องมีอะไรที่วัดได้เที่ยงตรง...สิ่งนั้นคือ นาฬิกา... ไม่ใช่ละ ใช้คำผิด ใช้คำว่าแม่นยำดีว่า มีทั้ง accuracy และ precision

  กลับไปวิชาเคมีและฟิสิกส์ เทอร์โมไดนามิกส์ ..สสารเมื่อโดนความร้อนจะขยายตัว..ด้วยหลักการนี้ก็มาใช้ว่า ถ้ามีสารที่สัมผัสอุณหภูมิกายเรา แล้วมีการขยายตัวหดตัวได้แบบไม่ผันผวนมากนัก ก็น่าจะแปลผลไปเป็นตัวเลขได้ อ่านค่าได้ เป็นสากล พูดมาตั้งเยอะก็เทอร์โมมิเตอร์นั่นแหละครับ
   เพียงแต่ว่าสมัยแรกๆ เทอร์โมมิเตอร์ มันไม่ได้เล็กๆกระทัดรัดแบบนี้

  ปี 1612 แพทย์ชาวอิตาลี Santorio santorio ต่อยอดความสำเร็จของกาลิเลโอในการประดิษฐ์เครื่อง thermoscope ในการวัดอุณหภูมิ แต่ด้วยความที่เขาใช้อากาศที่การขยายตัวเมื่อได้รับความร้อนยังไม่เป็นรูปแบบคงที่ แม้จะประดิษฐ์สเกลอ่านค่าเป็นตัวเลขได้แต่ว่าลมใช้ได้ไม่ดีนัก เพราะไม่คงที่และแปรปรวนมาก
  ทำให้ปัญหาอยู่ที่จะใช้วัสดุอะไรที่มีการขยายตัวเมื่อได้รับความร้อน

  ทิ้งระยะไว้เกือบร้อยปีที่เราไม่มีคำตอบนี้ จนกระทั่ง..

Danial Gabriel Fahrenheit นักฟิสิกส์ชาวเยอรมันได้คิดค้นเทอร์โมมิเตอร์ที่ทำจาก แอลกอฮอล์ ในปี 1809 อ๊ะๆๆ ชื่อคุ้นๆ ฟาเรนไฮต์ ..ใช่แล้ว เขาคือนักฟิสิกส์ที่คิดค้นเครื่องวัดอุณภูมิและผู้ประดิษฐ์หน่วยวัดองศาฟาเรนไฮต์นั่นเอง
   แต่แอลกอฮอล์ก็ไม่เสถียรพอ ถัดมาอีกห้าปี คุณฟาเรนไฮต์ก็ได้พบวัสดุที่มีการขยายตัวคงที่ เสถียร สามารถใช้เป็นเครื่องมือวัดอุณหภูมิได้ คือ ปรอท mercury (Hg) นั่นเอง  แต่ว่า แท่งปรอทสมัยนั้นยาว 25 เซนติเมตร ใช่แล้วอ่านไม่ผิด เกือบฟุต..ขืนพกไปมาคงโดนนักเลงเขม่นเป็นแน่แท้ แถมใช้เวลาวัดไม่น้อยกว่า 20 นาที

  เราต้องรอเวลาอีกเป็นร้อยปี...จนกระทั่ง

  ลิเวอร์พูล ได้แชมป์ลีก !!   ไม่ใช่ละ  เฮ้อ  เก็บกดจนเบลอ  เอาใหม่ๆๆ

  จนกระทั่ง

  ในปี 1866 คุณหมอนักประดิษฐ์ชาวอังกฤษ Thomas Clifford Allbutt ได้คิดค้นปรอทที่บรรจุในหลอดแก้วขนาดยาวหกนิ้ว เป็นท่อแคบๆใช้ปรอทเพียงหนึ่งหยด วิ่งขึ้นลงตามการขยายตัวจากความร้อน ซึ่งคงที่และเสถียรภาพ มองดูตรงปลายกระเปาะ ท่อในหลอดแก้วจะตีบแคบและโค้งบิดงอ เพื่อไม่ให้ปรอทเคลื่อนลงมาเร็วเกินไป ...จริงๆทั้งวันมันก็ไม่ลง ถ้าไม่เขย่าลงมา 
   ทำให้โลกนี้ได้พบสิ่งที่ยิ่งใหญ่ อลังการ สุดยอดๆๆ (โปรดทำเสียงแบบ อ.เฉลิมชัย จะได้ฟิลลิ่งในการอ่านเพิ่มขึ้น)  คือ เครื่องวัดอุณหภูมิกายที่มาตรฐาน พกพาสะดวก มาสู่โลกปัจจุบัน ใช้ง่าย ใครก็ใช้เป็น

  ไม่เพียงแต่นั้น หลังจากเรามีเครื่องวัดไข้ เราก็ได้ศึกษาและรู้จักรูปแบบของไข้ที่ปรากฏในโรคต่างๆ เช่น ไข้ไทฟอยด์มีลักษณะแบบใด ไข้มาเลเรียนั้นอุณหภูมิขึ้นลงแบบใด เกิดการพัฒนาความรู้อีกมากมาย

   แต่ทุกวันนี้ มาตรฐานการวัดอุณหภูมิกายภายนอกจริงๆแล้วใช้ เครื่องตรวจวัดรังสีอินฟราเรดนะครับ ส่วนการวัดอุณหภูมิแกนกาย ต้องใส่สายสวนเข้าไปวัดครับ ส่วนอุณหภูมิแก่นกายแค่สัมผัสก็พอวัดได้

  สนุกสนานเฮฮากันหลังจากเจอเรื่องหนักๆมาตลอดสัปดาห์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น