11 กุมภาพันธ์ 2561

หลายอย่างหลายโรคเราต้องควบคุม..ตลอดชีวิต

การรักษาโรคหลายอย่างในยุคปัจจุบันคือการควบคุมโรคในขณะปัจจุบันให้ดี และการลดโอกาสเกิดโรคในอนาคต หลายอย่างหลายโรคเราต้องควบคุม..ตลอดชีวิต
การรักษาโดยใช้ยาไปตลอดนั้น มันคือภาระมหาศาลที่คนไข้และญาติต้องแบกรับไปตลอด คนไข้ก็ต้องรับผิดชอบตัวเองในการกินยา หากหลงลืม กินๆหยุดๆ ประสิทธิภาพที่คาดหวังก็คงลดลงและถ้าหากกินเข้าไปโดยไม่ได้ระวัง ก็อาจจะเกิดผลเสียได้ เรียกว่าเราต้องอยู่กับยาไปตลอด ดังนั้นการเลือกการรักษาตั้งแต่แรก พิจารณาให้ดีว่าจำเป็นหรือไม่จึงสำคัญมาก ตัวอย่างเช่น การพิจารณาเริ่มยาลดไขมัน ต้องมีการคิดคำนวณความเสี่ยงการเกิดโรค ความคุ้มค่าก่อนจะเริ่มยา
เปรียบเสมือนการเลือกคู่ครอง เราต้องร่วมเรียงเคียงหมอนไปตลอด ก่อนจะเลือกควรพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าเราได้เลือกทางที่เหมาะสมกับตัวเราหรือยัง
เมื่อเรารักษาไปเรื่อยๆ กินยาไปเรื่อยๆ กาลเวลาและสังขารย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ความเสี่ยงโรค ผลจากการรักษาก็ย่อมแตกต่างจากสิ่งที่เกิดเมื่อแรกรักษา ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มการรักษาในระยะยาวก็ต้องเข้าใจถึงผลดีและผลเสียที่จะเกิดในระยะเวลาต่างๆด้วย เช่นการให้ยาต้านไวรัสรักษาการติดเชื้อเอชไอวี ขณะที่ประเมินการใช้ยาก็ปรกติดี แต่เมื่อกินยาไปอาจมีอาการตับอักเสบที่ต้องปรับเปลี่ยนการรักษาได้
เปรียบเสมือนการครองรักครองเรือน เมื่ออยู่ด้วยกันไปนานๆก็จะเห็นข้อดีข้อเสียของกันและกันมากขึ้น ควรทำใจยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดและหาทางที่จะปรับตัวแก้ไขจุดบกพร่อง เพื่อให้ชีวิตคู่ดำรงต่อไป
เมื่อรักษาไปเรื่อยๆ ความเข้าใจดีๆแม่นยำในการรักษาและใช้ยาอาจจะถดถอย หลงลืม ทำให้ใช้ผิดพลาดเกิดผลเสียหรือควบคุมโรคไม่ได้ การติดตามการรักษา การทบทวนการใช้ยาและการปฏิบัติตัวจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำเสมอ เช่น การให้ยาสูดสเตียรอยด์รักษาโรคหอบหืด ช่วงแรกของการรักษาก็สูดยาถูกวิธี บ้วนปากหลังสูดยา นานๆไปก็หลงลืมทำให้สูดยาผิด ควบคุมโรคไม่ได้ หรือลืมบ้วนปากจนมีฝ้าเชื้อราขึ้น ก็ต้องมาทบทวนใหม่
เปรียบเสมือนการอยู่ร่วมกัน สักวันก็จะเกิดปัญหาข้อผิดพลาดหรือปัญหาเรื้อรังที่ไม่ได้หันหน้าคุยกัน ก็อาจทำให้ชีวิตคู่ล้มเหลว การมาปรับความเข้าใจอยู่เสมอ กล้าพูดคุยแก้ไข ทำให้ปัญหาไม่ลุกลาม
เมื่อรักษาไปนานเข้า คนไข้ก็จะเริ่มเบื่อหน่ายกับการใช้ยาหรือปฏิบัติตัวไปตลอด ทำให้เริ่มละเลย ประมาทในโรค ระเบียบวินัยเริ่มหย่อนลงหรือนานๆไปก็ล้มเลิก ดังนั้นการให้ความเข้าใจที่ถูกต้องตั้งแต่แรก ปรับทัศนคติตามเวลาที่เปลี่ยน เข้าสู่การทบทวนเสมือนแรกรักษาให้ยึดมั่นและเชื่อใจในการรักษาเป็นสิ่งจำเป็น ต้องทำเสมอทั้งคนไข้และแพทย์ ดังเช่นการสอนเรื่องอาหารเบาหวาน ที่ต้องทบทวนและย้ำเตือนเป้าหมายให้เข้าใจและไม่ลืม ในทุกๆครั้งที่มาพบแพทย์
เปรียบเสมือนชีวิตคู่ที่ยาวนาน หากมีการใส่ใจ เติมความหวาน สดชื่นให้กับชีวิต ก็จะทำให้ความรักไม่เก่าและดูสดใสเหมือนแรกรักเสมอมา
และเมื่อถึงจุดท้ายสุดต้องล้มเลิกการรักษาเดิม ไม่ว่าโรคจะแย่ลง มีข้อห้ามในการรักษาหรือรักษาล้มเหลว ก็ต้องให้ทางเลือกในการรักษาขั้นต่อไปที่อาจมีประโยชน์ไม่สูงเท่าวิธีแรก แต่ก็ยังเป็นตัวเลือกที่ใช้ได้ ที่สำคัญคือต้องให้กำลังใจและทางเลือก เพราะหากล้มเหลวในวิธีแรกแล้วไม่ทราบวิธีต่อไป ก็อาจเลิกรักษาสูญเสียโอกาสการรักษาได้ ดังเช่นการรักษามะเร็ง หากการใช้ยาชนิดแรกที่เรียกว่า first line ไม่ได้ผล ก็ต้องอธิบายและให้ทางเลือกกับ second line
เปรียบเสมือนคู่รักที่แม้ประคับประคองมาเต็มที่ก็ยังถึงทางตัน เมื่อหมดหนทางก็ควรแยกจากกันด้วยดี ให้อภัยและตัวเองก็จะยังใช้ชีวิตต่อไปอย่างห้าวหาญ เข้มแข็ง ไม่ล้มลงเพียงแค่ชีวิตคู่ล้มเหลวเท่านั้น
...
...
...สำหรับคุณๆส่วนใหญ่ในเพจนี้ ผมอยากบอกว่า ผมเข้าใจพวกคุณนะว่าการ "ปฏิเสธการรักษา" มันชอกช้ำปานใด 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น